“ขยะ” คือสิ่งที่หลายคนมักมองว่าไร้ค่าและสกปรก ยิ่งผู้คนในสังคมขาดความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดการขยะที่เพียงพอแล้ว ปัญหาขยะก็ยิ่งสร้างผลกระทบต่อทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ ทั้งที่จริงแล้ว หากเราจัดการขยะกันอย่างถูกวิธี สิ่งไร้ค่าของใครหลายคน ก็สามารถถูกนำไปต่อยอดและสร้างคุณค่าให้กับผู้คนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้น การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดขยะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญเพื่อการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงได้ดำเนินโครงการสร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Wonder Waste! ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 เพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการขยะ บนพื้นฐานของการศึกษาพฤติกรรมของผู้ทิ้งในระดับครัวเรือนและชุมชน จำนวน 4 พื้นที่ต้นแบบ ได้แก่ ย่านเจริญกรุง, ย่านหนองแขม, ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการคัดแยกชยะ กระตุ้นให้เกิดการตระหนักในการบริหารจัดการให้ได้ขยะคุณภาพ ก่อนนำไปกำจัดหรือเพิ่มทางเลือกด้วยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป
โครงการ WONDER WASTE! เป็นโครงการเวิร์กช็อปด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Workshop) ผ่านการลงมือทำจริง เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเรื่องการคัดแยกขยะจากชุมชนเพื่อเปลี่ยนขยะมูลฝอยที่ไม่มีใครต้องการเป็นพลังงานไฟฟ้าใน 4 พื้นที่นำร่อง ทั้งนี้ 4 แพลตฟอร์มคัดแยกขยะชุมชนต้นแบบ มีดังนี้
PowerPick พัฒนาโดยบริษัท ขอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งมีพื้นที่ติดตั้งที่ลานใบไม้ บริษัท ยิบ อิน ซอย จำกัด ถนนมหาพฤฒาราม บางรัก กรุงเทพฯ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวมีแนวคิดแก้ไขปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นหลังบริโภคจากฟู้ดเดลิเวอรี ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (covid-19) ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาบริหารคัดแยกบรรจุภัณฑ์ อาหาร และเครื่องดื่มประเภทพลาสติกเบา รวมทั้งกระดาษในรูปแบบ Pop-Up ที่มีบริการรับถุงแยกขยะรีไซเคิลด้วยตู้อัตโนมัติ และเคาน์เตอร์เซอร์วิส พร้อม Lab ที่ทำหน้าที่ทั้งรับ บด ล้าง อบ และแพ็กขยะ สู่การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) พร้อมใช้จักรยานเพาเวอร์พิกไฟฟ้าบรรทุก หรือ PowerPick WtE eBike บริการรับแยกขยะแบบเคลื่อนที่ผ่านแอปพลิเคชันในการกำหนดเวลารับขยะถึงที่
care4 พัฒนาโดยพิเศษ วีรังคบุตร และทีมงาน โดยมีพื้นที่ติดตั้งที่หมู่บ้านจิตรณรงค์ 21 ใกล้โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม กรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มระบบเก็บขยะเพื่อส่งเข้าโรงเผาขยะด้วยเทคนิคลดความชื้นขยะ ด้วยวิศวกรรมและการออกแบบ มาใช้ร่วมกับระบบคัดแยกเพื่อทำให้การเผาขยะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการปรับปรุงคุณภาพขยะและลดขั้นตอนการคัดแยกให้มีความซับซ้อนน้อยลง ด้วยกระบวนการแยกขยะ – รับขยะ – พักขยะ – ส่งขยะ สำหรับการแยกขยะ จะมีถุงและถังขยะที่ออกแบบให้เหมาะสม วางไว้ในแต่ละจุดของบ้านพร้อมเอกสารแนะนำ เพื่อสร้างความเข้าใจในวิธีการคัดแยก มีการรับขยะถึงหน้าบ้านเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนในพื้นที่ โดยมีจักรยานเข้าไปรับขยะมาจัดการตามแต่ชนิดของขยะ และการพักขยะโดยการลดความชื้นด้วย Solar Waste Dryer ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานครต่อไป
บุญบุญ พัฒนาโดย FabCafe Bangkok ซึ่งมีพื้นที่ติดตั้งที่พื้นที่ศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น โดยเป็นหุ่นยนต์แมวเก็บขยะ ที่สร้างแรงจูงใจ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่นำเทคโนโลยี Delivery Robot ด้วยการนำถังขยะมาหาคน ให้ถังขยะมีบทบาทเป็นสื่อกลางให้ข้อมูล (Information Agent) และความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ ประกอบด้วยหุ่นยนต์แมวใช้ภายในร้านคาเฟ่บุญเล็ก ที่วิ่งไปรับบริจาคขยะที่ใช้ภายในร้านค้าที่เป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการทิ้งขยะ แก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ และหุ่นยนต์แมวใช้ภายนอกบุญใหญ่ ที่รับขยะจากร้านค้าที่มีการคัดแยกไว้แล้วตั้งแต่ต้นทาง ผ่านระบบ Line Official โดยมีสถานีคอยรับขยะจากหุ่นยนต์ทั้งภายในและภายนอก พร้อมทั้งมีการต่อยอดด้วยการจัดแคมเปญ Activity Waste Information ร่วมกับพื้นที่อีกด้วย
BABA Waste พัฒนาโดยวีระชัย ปราณวีระไพบูลย์ และทีมงานอาร์ ดี เอ็ม สตราติจีส ซึ่งมีพื้นที่ติดตั้งที่พื้นที่เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต โดยเป็นแพลตฟอร์มการจัดการขยะสำหรับธุรกิจคาเฟ่และบ้านเรือน ซึ่งใช้ถุงสีแยกขยะตามประเภทเพื่อเป็นการสื่อสารระหว่าง (ครัวเรือน ร้านค้า) – กลางทาง (คนเก็บขยะ) – ปลายทาง (ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม จังหวัด ภูเก็ต) พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดการจัดการที่สมบูรณ์และความยั่งยืน
ประกอบด้วย BABABIN ถังขยะสำหรับใช้ภายในคาเฟ่หรือบ้านเรือน และสำหรับใช้ภายนอก BABABAG ถุงขยะสีที่ช่วยแยกประเภทขยะ ขยะแห้ง ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และ BABACONE ชุดแปรรูปเศษอาหารเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก
Discussion about this post