สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดตัว “นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ” โดย ดร.วรรณา เลาวกุล ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 แม่นยำสูง 70% ประมวลผลเพียง 20 วินาที หวังยกระดับ เพิ่มประสิทธิภาพประเมินความเสี่ยงมะเร็งของไทย
“นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ” เป็นผลงานวิจัยของ ดร.วรรณา เลาวกุล แห่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้านมลพิษทางอากาศ และคณะ ประกอบด้วยผศ.นพ.วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน อายุรแพทย์โรคมะเร็ง แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และดร.ทศพร เฟื่องรอด จบด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ ด้านการฉายแสงมะเร็ง แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ดร.วรรณา เลาวกุล หัวหน้าคณะวิจัยจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศไทยอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งขึ้นกับชนิดและระยะของโรค โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับการรักษาช้าทำให้มีโอกาสรอดชีวิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การรักษาให้ได้ผลดีควรตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้น แต่การตรวจคัดกรองปัจจุบัน เช่น มะเร็งปอด ใช้วิธีการทำ CT Scan ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและเสี่ยงกับการสัมผัสรังสี ดังนั้น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงได้บูรณาการวิจัยร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ ซึ่งมีราคาถูก สามารถเข้าถึงได้ง่าย และช่วยคัดกรองมะเร็งในเบื้องต้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะสามารถรักษาให้หายขาดและมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น พร้อมทั้งเป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินความเสี่ยงมะเร็งของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
สำหรับนวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ มีคุณสมบัติใช้งานง่าย เพียงเป่าลมหายใจเข้าไปในเครื่อง และใช้เวลาประมวลผลเพียง 20 วินาที ก็สามารถประเมินผลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ว่ามีแนวโน้มควรเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งหรือไม่ ปัจจุบันได้มีการทดสอบการใช้งานนวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งกับผู้ป่วยมะเร็งปอดและกลุ่มคนปกติในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พบว่าประสิทธิภาพของนวัตกรรมดังกล่าวมีความแม่นยำถึง 70% ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรม นำไปขยายผลประเมินความเสี่ยงของประชาชนผู้ได้รับหรือสัมผัสสารมลพิษทางอากาศ เช่น พื้นที่ปัญหาหมอกควัน เป็นต้น รวมถึงการทำให้นวัตกรรมดังกล่าวมีขนาดเล็กลง สามารถพกพาได้สะดวก อีกทั้งสามารถแสดงผลผ่านสมาร์ทโฟนได้ และหากภาคเอกชนที่สนใจสามารถร่วมบูรณาการพัฒนาอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป
Discussion about this post