นักวิจัยนาโนเทค สวทช. รับโจทย์เอกชน ผสานเทคโนโลยีการห่อหุ้ม (Encapsulation) และการออกแบบกระบวนการเคลือบเส้นใย หนุน “บ้านไม้หอมฮิโนกิ ไชยปราการ” ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ชูจุดแข็งเรื่องนวัตกรรม สู่ “หมอนอโรม่าฮิโนกิ” ที่ใช้เทคโนโลยีเคลือบที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาลงบนเส้นใยพิเศษ ล็อคกลิ่นหอมนานถึง 6 เดือน หวังขยายฐานลูกค้าใหม่ สู้วิกฤตโควิด-19
ไม้ฮิโนกิเป็นไม้ที่มีกลิ่นอโรมาเธอราพี ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอารมณ์ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้เนื้อไม้ยังสามารถป้องกันเชื้อรา และแบคทีเรีย คุณอนิรุทธิ์ จึงสุดประเสริฐ ผู้ก่อตั้ง บริษัท บ้านไม้หอมฮิโนกิ ไชยปราการ จำกัด จึงตั้งใจสร้างบ้านจากไม้หอมฮิโนกิขึ้นที่ ต.ปงตำ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิตและจัดจำหน่ายที่นอนและหมอนเพื่อสุขภาพจากไม้ฮิโนกิ ก่อนขยายสู่อาณาจักรฮิโนกิแลนด์ (Hinoki Land) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ของปราสาทและหมู่บ้านโบราณของคนญี่ปุ่น ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวซื้อบัตรเข้าชมสถานที่ รวมถึงจำหน่ายสินค้าที่มีจุดเด่นด้านคุณค่าเชิงวัฒนธรรมและมีมูลค่าสูงในกลุ่มเครื่องนอนเพื่อสุขภาพ เช่น หมอนและที่นอนเพื่อสุขภาพที่มีกลิ่นหอม แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 นักท่องเที่ยวลดลง จนกระทบต่อรายได้
ดร.วรล อินทะสันตา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งขาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการ “เส้นใยเคลือบด้วยแคปซูลกลิ่นหอมสำหรับผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ” เป็นโจทย์และความต้องการจากบริษัท บ้านไม้หอมฮิโนกิ ไชยปราการ จำกัด ที่ต้องการพัฒนาสินค้าประเภทเคหะสิ่งทอกลิ่นหอมให้มีความหลากหลาย ตรงกับความต้องการของลูกค้า รวมถึงเสริมจุดแข็งในด้านความคงทนของกลิ่นหอมให้ยาวนานขึ้น สามารถเก็บรักษาและซักล้างทำความสะอาดได้ตามปกติ
“ความท้าทายของงานนี้ นอกจากเรื่องของการเคลือบให้กลิ่นคงทน โดยที่น้ำมันหอมระเหยไม่รั่วซึมเปรอะเปื้อนแล้ว ยังมีเรื่องของต้นทุน และความเป็นตัวตนของฮิโนกิผ่านกลิ่นและผลิตภัณฑ์ ที่ทีมวิจัยต้องทำการบ้าน โดยดูจากผลิตภัณฑ์เครื่องนอน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นตัวหมอน/ที่นอน ปลอกหมอน/ผ้าปูที่นอน หรือเส้นใยที่ใช้เป็นไส้หมอน เมื่อพิจารณาจากโอกาสในการขยี้/ขัดถู หรือรับแรงกด ทำให้ยากที่กลิ่นจะคงทน การเคลือบกลิ่นไปที่ไส้หมอน จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด” ดร.วรลกล่าว
หลังรับโจทย์จากเอกชน ทีมวิจัยนวัตกรรมเส้นใยนาโนจากนาโนเทคเริ่มพัฒนากระบวนการเคลือบแคปซูลกลิ่นหอมให้มีการเกาะติดบนเส้นใยและคงทนต่อสภาวะที่มีการขยี้/ขัดถู หรือได้รับแรงกด หรือเมื่อผ่านการซักจำลองโดยซักตามมาตรฐาน AATCC135:2015 (Dimensional Changes of Fabrics after Home Laundering) ซึ่งความคงทนดังกล่าว เป็นสมบัติที่สำคัญในกรณีที่เส้นใยถูกบรรจุในเครื่องนอนที่มีความจำเป็นต้องซักล้างระหว่างการใช้งานจริง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยังคงมีกลิ่นหอมที่ยาวนานนอกจากสารเคลือบที่มีองค์ประกอบหลักเป็นแคปซูลที่บรรจุน้ำมันหอมระเหยหรือน้ำหอมแล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการเคลือบที่ใช้เวลาสั้นและต้นทุนต่ำเพื่อช่วยให้น้ำหอมสามารถตรึงแน่นบนเส้นใยได้อย่างสม่ำเสมอ และนำไปสู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีประสิทธิภาพและราคาที่แข่งขันได้
โดยเส้นใยที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว ดร.วรลชี้ว่า ยังคงมีลักษณะทางกายภาพที่คล้ายเดิมโดยเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย คือ ความคงตัวและความนุ่มฟูของเส้นใยไม่แตกต่างจากเส้นใยก่อนการเคลือบ ตลอดจนการปลดปล่อยกลิ่นหอมจากแคปซูลที่เกาะติดบนพื้นผิวเส้นใยมีความคงทนและระยะเวลายาวนาน ตามผลการทดสอบความคงทนของกลิ่นโดยผู้เชี่ยวชาญของหน่วยวิจัยทางประสาทสัมผัสและผู้บริโภคแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University Sensory and Consumer Research Center: KUSCR) ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยความคงทนของกลิ่นดังกล่าวเป็นผลจากแคปซูลที่ช่วยปกป้องและควบคุมการระเหยของกลิ่นน้ำหอมที่บรรจุภายใน แต่หากพื้นผิวของเส้นใยที่ผ่านการเคลือบนั้นถูกสัมผัสหรือได้รับแรงเสียดสี แคปซูลจะค่อยๆ แตกและส่งกลิ่นหอมที่เข้มข้นออกมา โดยกระบวนการเคลือบที่เหมาะสมจากการวิจัยและพัฒนาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แคปซูลน้ำหอมมีปริมาณการเกาะติดที่ดีและทนทาน แม้ผ่านสภาวะการซักหรือการขัดถู
“ดังนั้น เส้นใยที่ผสานกับเทคโนโลยีการห่อหุ้มและการออกแบบกระบวนการเคลือบเฉพาะที่นาโนเทคพัฒนาขึ้น ทำให้ได้เส้นใยที่มีกลิ่นหอมติดทนนานถึง 6 เดือน จากการทดสอบอายุการใช้งานในสภาะเร่งต่างๆ ทั้งการอบในตู้ที่มีอุณหภูมิสูง และการกดทับด้วยแรงกระแทก ตลอดจนการนำไปซักด้วยเครื่องซักผ้าตามมาตรฐาน ซึ่งผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ” นักวิจัยนาโนเทคชี้
น.ส.ดาวรุณี ต๋าคำ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บ้านไม้หอมฮิโนกิ ไชยปราการ จำกัด กล่าวว่า เดิม ทางบริษัทได้มีการจัดจำหน่ายหมอนสุขภาพฮิโนกิ ซึ่งเป็นหมอนที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ ผสานด้วยสมบัติด้านกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดน้ำมันจากเยื่อไม้สนฮิโนกิ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มรักสุขภาพให้การตอบรับค่อนข้างดี แต่ก็ยังคงสร้างข้อสงสัยให้กับลูกค้า เช่น ลูกค้ามักจะถามว่า กลิ่นจะอยู่ได้นานแค่ไหน หรือซักแล้วกลิ่นจะหายไปหมดเลยไหม ทำให้ทางบริษัทต้องหาคำตอบให้กับลูกค้า ซึ่งมันก็คือการแก้ไขจุดด้อยของตัวสินค้า เพื่อให้ลูกค้าได้เกิดความมั่นใจที่จะเลือกซื้อสินค้า
“ฮิโนกิแลนด์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายหลักของฮิโนกิที่เป็นนักท่องเที่ยวถูกจำกัดด้วยการเดินทาง ทำให้ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของฮิโนกิส่วนใหญ่ มาจากการขายหน้าร้าน เพราะลูกค้าได้สัมผัสกับสินค้าจริง ได้ทดลองดมกลิ่น แต่โควิด-19 ทำให้เราต้องปรับตัวสู่ช่องทางออนไลน์ ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นผ่านผลการวิจัยและพัฒนาด้วยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถืออย่าง นาโนเทค สวทช.” น.ส.ดาวรุณีกล่าว พร้อมชี้ว่า นอกจากการขยายช่องทางการตลาด ยังขยายไลน์สินค้า ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น
ฐานลูกค้าเดิมของผลิตภัณฑ์ฮิโนกิคือ กลุ่มวัยกลางคนและกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ไลฟ์สไตล์มุ่งเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพ ซึ่งกลิ่นจากไม้ฮิโนกิจะตอบความต้องการได้ แต่เมื่อเข้าสู่การตลาดออนไลน์ กลุ่มคนที่เข้าถึงการตลาดออนไลน์มากที่สุดคือ กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน จึงจำเป็นต้องเพิ่มความหลากหลายของกลิ่น จากเดิมที่มีกลิ่นเดียว คือ กลิ่นฮิโนกิ ซึ่งตอนนี้ได้ทำการวิจัยกลิ่นเพิ่มเติมเพื่อผลิตหมอนที่มีความหลากหลายของกลิ่น คือ กลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นซากุระ และกลิ่นมะลิ คาดการณ์ว่า จะสามารถสร้างความสนใจและเพิ่มฐานกลุ่มลูกค้าได้เพิ่มขึ้น
“หมอนอโรม่าฮิโนกิ ที่มุ่งเน้นกลิ่นที่ผ่อนคลาย จะตอบโจทย์วิถีชีวิตในปัจจุบันที่เคร่งเครียด หรือความต้องการเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลายจากการทำงาน การเรียน หรือเมื่อต้อง Work from Home (WFH) โดยคาดว่า จะสามารถสร้างความสนใจและเพิ่มฐานกลุ่มลูกค้าได้เพิ่มขึ้น การเปิดตัวสินค้าตัวใหม่นี้จะเปิดตัวภายในปี 2565 ทั้งการตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะมีการเข้าร่วมงานการจัดแสดงสินค้าทั้งของภาครัฐและเอกชน” น.ส.ดาวรุณีเผย
นอกจากนี้ นวัตกรรมเส้นใยเคลือบกลิ่นหอมยังสามารถประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอได้หลากหลาย รวมถึงผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ อาทิ หมอนและเครื่องนอน, ตุ๊กตา, เครื่องเรือนเครื่องใช้ในบ้าน (เบาะ, โซฟา) เป็นต้น อันเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นการสร้างสรรค์อัตลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับสินค้านั้น ๆ ซึ่งบริษัท บ้านไม้หอมฮิโนกิ ไชยปราการ จำกัด มีแผนขยายไลน์ธุรกิจแบบ B2B ตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องนอนกลิ่นหอม อาทิ ธุรกิจโรงแรม สปา เป็นต้น
ที่มา : nstda
Discussion about this post