ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ป่วยต้องพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อระหว่างการเดินทางมาโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเปิดตัวะแอพพลิเคชั่น “Vajira@Home” ไกลเหมือนใกล้ พร้อมให้บริการ จากโรงพยาบาลสู่บ้านคุณ เป็นนวัตกรรมการให้บริการที่ให้ผู้ป่วยนัดหมายพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ง่ายด้วยปลายนิ้ว และรอรับยาทางไปรษณีย์ที่บ้าน ลดการเดินทาง ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ติดได้ง่าย
ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวถึงแนวคิดและวัตถุประสงค์ การจัดทำแอพพลิเคชั่น “Vajira@Home” ว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังมีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีความกังวล หากต้องเดินทางมาพบแพทย์ ทางคณะฯ จึงมีนโยบายเพิ่มช่องทางการรักษาจากที่บ้านโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ด้วยระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นการรักษาแบบแพทย์ทางไกล ในการรับส่งข้อมูลเชิงสุขภาพกับผู้ป่วยผ่านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิตอล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเปิดตัวแอพพลิเคชั่นอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้
ทั้งนี้ การออกแบบแอพพลิเคชั่นยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการออกแบบ (patient centric design) ที่นำบริการทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลมาถึงมือผู้ป่วย เพิ่มความสะดวกสบาย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) เบาหวาน ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังใช้ติดตามการรักษาผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยกระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์) การติดตามผลการรักษาก่อนและหลังผ่าตัด การสอนทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยจิตเวช และการดูแลเท้าเบาหวาน (telefootcare) ผู้ป่วยสามารถนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมรับคำปรึกษา วินิจฉัยโรค รักษา เสมือนกับการเดินทางมาโรงพยาบาล
รวมทั้ง เปิดให้ผู้ป่วยรับการแจ้งเตือนข้อมูลการนัดหมายทั้งก่อนวันนัด และคิวการรับบริการหน้าห้องตรวจในจุดต่าง ๆ ผู้ป่วยสามารถเปิด “ประวัติสุขภาพ”ที่มีผลการวินิจฉัย การรักษา ยาที่ได้รับ รวมทั้งผลการตรวจเลือดเพื่อดูได้เองที่บ้าน ในส่วน “สมุดบันทึก” ผู้ป่วยสามารถบันทึกค่าต่าง ๆ ในการดูแลตนเอง ได้แก่ข้อมูลค่าน้ำตาลปลายนิ้ว ค่าความดันโลหิตและน้ำหนักจากที่บ้าน สามารถเชื่อมต่อถ่ายโอนข้อมูลกับเครื่องมืออื่น ๆ เช่น นาฬิกาดิจิทัล (สมาร์ทวอทช์) และเครื่องตรวจน้ำตาลดิจิทัล แจ้งเตือนการรับประทานยา ติดตามการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยถึงที่บ้านหรือรับยาที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้าน มีระบบ Chat Bot ในการ “สอบถาม”ตอบแบบอัตโนมัติด้วยอาการผิดปกติที่พบได้บ่อย เช่นการแก้ไขอาการน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ ตลอดจนผู้ป่วยสามารถแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินพร้อมระบุตำแหน่ง GPS เพื่อเรียกบริการรถพยาบาล ให้ไปถึงตำแหน่งที่หมายอย่างรวดเร็วและถูกต้อง พร้อมระบบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์แล้ว ความปลอดภัยของข้อมูลถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทางคณะฯ ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยสูงสุดในปัจจุบันมาใช้เป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย
โดยทุกฟังก์ชั่นการทำงาน การให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน “Vajira@Home” ไกลเหมือนใกล้ พร้อมให้บริการ จากโรงพยาบาลสู่บ้านคุณ และอื่น ๆ อีกมากมายที่จะเข้ามาในอนาคต เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึงและปลอดภัย ให้การดูแลผู้ป่วยอย่างมีมาตรฐานและประสิทธิภาพแบบครบวงจร พร้อมประสานเครือข่ายสาธารณสุขทั่วกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง ครบประโยชน์ในแอปฯ เดียว
ที่มา : VAJIRA
Discussion about this post