“เอ็นไอเอ” ได้รับการสนับสนุนจาก “กกพ.” เปิดวิชาการจัดการขยะออนไลน์ นำร่องโรงเรียน 50 แห่ง ส่งเสริมความรู้เยาวชนระดับมัธยมศึกษา รวมถึงคุณครูให้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างถูกวิธี พร้อมแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะ
นำร่องใน 50 โรงเรียน จาก 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภูเก็ต และขอนแก่น รวมนักเรียนและครูที่เข้าร่วมกว่า 10,000 ราย อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะมีการเฟ้นหานวัตกรรมที่สามารถใช้ได้จริงเพื่อรับการลงทุนจากผู้ประกอบการ บริษัท องค์กร หรือกองทุนที่สามารถร่วมลงทุน ตลอดจนคัดเลือกทีมเพื่อไปศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนความรู้ในต่างประเทศ
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA มีนโยบายส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดไปสู่การเป็นนวัตกร สตาร์ทอัพ รวมถึงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านหลักสูตร STEAM4INNOVATOR การจัดกิจกรรมประกวด พร้อมด้วยความร่วมมือกับภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และอื่นๆ ในการยกระดับเยาวชนให้ได้รู้จักกับการทำนวัตกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างมูลค่า-คุณค่าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้ ล่าสุดจึงได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินโครงการ “สนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า” (The Electric Playground) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ตลอดจนคุณครู ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนที่สนใจให้ได้มีความรู้ ความตระหนักและมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้าด้วยการให้ความรู้ในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี และสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รวมถึงสร้างองค์ความรู้ด้านการผลิตนวัตกรรมจัดการปัญหาขยะที่กำลังเป็นประเด็นที่น่าจับตาทั่วโลก
โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า The Electric Playgroundเป็นหลักสูตรที่บูรณาการจากองค์ความรู้ “STEAM4INNOVATOR” ที่นำเอาทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ มาบ่มเพาะเยาวชนนักคิด 10,000 ราย ใน 50 โรงเรียน จาก 3 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภูเก็ต และขอนแก่น ให้รู้จักการสร้างไอเดีย การพัฒนาจินตนาการสู่สิ่งที่สามารถจับต้องได้ และลงสำรวจพื้นที่จริงที่มีปัญหาในด้านการจัดการขยะ พร้อมนำไปสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะ รวมถึงนวัตกรรมอื่นๆ ที่มีความแปลกใหม่ เพื่อเป็นทางออกและตัวเลือกที่จะช่วยจัดการและลดปริมาณขยะให้น้อยลง ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวยังมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณครูจากบทบาทผู้สอนหน้าชั้นเรียนสู่การเป็นผู้สร้างนวัตกร ซึ่งคุณครูจะได้เตรียมตัว (Pre-School) ในกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำไปพัฒนาการเรียนการสอนต่อไปได้ในอนาคต
สำหรับเยาวชนและคุณครูที่ได้เข้าร่วมโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจะได้สนุกกับการเรียนรู้หลักสูตร STEAM4INNOVATOR และเรียนรู้พัฒนาศักยภาพผ่านสนามการเรียนรู้ 4 ด่าน ได้แก่
ด่านที่ 1 – EDTRICITY: นักเรียนกว่า 10,000 คน เรียนรู้กระบวนการค้นหาแรงบันดาลใจ สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ รวมทั้งนำความคิดที่หลากหลายมาสังเคราะห์ เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและมีโอกาสทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมได้จริง ผ่านระบบจัดการศึกษาออนไลน์ และทำการคัดเลือกให้ได้สุดยอดไอเดีย 250 ไอเดียเพื่อเข้าสู่ด่านถัดไป
ด่านที่ 2 – ELECTRIC FIELD: พา 250 ทีมตัวแทนจาก 50 โรงเรียน ลงลึกพัฒนาไอเดียจากด่านแรกให้ชัดเจน ลงมือทำต้นแบบชิ้นงานให้ใช้งานได้จริงเชิงเทคโนโลยีและเชิงธุรกิจการจัดการ โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำเป็นผู้สนับสนุนพื้นที่ ห้องทดลอง ห้องสมุด รวมทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ที่จะคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด และคัดเลือกให้เหลือ 25 ต้นแบบนวัตกรรมไปเข้าค่ายนวัตกร
ด่านที่ 3 – ELECATHON: ค่ายพัฒนานวัตกรผู้สร้างนวัตกรรมสุดพิเศษ ที่เข้มข้นและลงลึกทุกรายละเอียดเพื่อพัฒนาเหล่านวัตกรไปสู่รอบชิงชนะเลิศ
ด่านที่ 4 – VOLTAGE STAGE: เวที Pitching รอบชิงชนะเลิศที่เหล่านวัตกรจะได้นำเสนอผลงาน 25 นวัตกรรมในเวทีระดับประเทศ กับเหล่าผู้ประกอบการ บริษัท องค์กร หรือกองทุนที่สามารถร่วมลงทุนให้นวัตกรรมหรือธุรกิจที่โดดเด่น (Venture Capital Investors) ซึ่งจะพาฝันของน้องให้เป็นรูปธรรม โดย 10 สุดยอดผลงานจะได้รับการจัดแสดงนิทรรศการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ผ่านสื่อสำนักต่างๆ ให้เป็นที่รู้จัก นอกจากนี้ ทั้ง 10 สุดยอดทีมนวัตกร จะถูกคัดเลือกเหลือ 5 ทีมเพื่อไปศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนความรู้ในต่างแดนอีกด้วย
“การสร้างนวัตกรรมเพื่อจัดการขยะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทั่วทุกมุมโลก แต่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวอาจแก้ปัญหาได้ไม่ทันกับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง NIA มองว่าต้องพัฒนาหรือสร้างพลเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีความตระหนักและเข้าใจปัญหาขยะควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถสร้างเครื่องมือหรือโซลูชั่นที่เกิดจากไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ และสามารถนำไปต่อยอดเป็นโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับตนเองและสังคมได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ และคุณครูในโรงเรียนต่างๆ ที่มีความสามารถในด้านการสอนและพัฒนาศักยภาพนักเรียน ทั้งนี้ หลังจากที่ได้เริ่มดำเนินโครงการ สิ่งที่ NIA เห็นได้ชัดคือการตื่นตัวและความตั้งใจจริงของคุณครูและนักเรียนผู้ร่วมโครงการกว่า 10,000 คน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงปัญหาขยะในประเทศไทย อีกทั้งยังเชื่อว่าโครงการนี้สามารถต่อยอดเป็นหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนอื่นๆ ที่สนใจได้ในอนาคต” พันธุ์อาจ กล่าวสรุป
Discussion about this post