กิจกรรม ‘การเกษตร’ ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ปัจจุบัน จึงมี นวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ ‘AGTECH’ เพื่อช่วยให้เกษตรกรควบคุมผลผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจากการประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2021 พบว่า อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนเป็น 1 ใน 3 ของโลก รวมทั้งมีการใช้น้ำถึง 71% ของโลก และทางออกที่จะช่วยลดผลกระทบได้คือการผสมผสานเกษตรกรรมกับเทคโนโลยีโดยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาร่วมสร้างการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความมั่นคงทางด้านอาหารและการเกษตรสูงมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน การร่วมปฏิบัติการลดโลกร้อนในภูมิภาค จึงต้องลงทุนในกลุ่มเกษตรกรและการจัดการใช้ที่ดิน รวมไปถึงการนำนวัตกรรมรูปแบบใหม่มาใช้ในกระบวนการ เพื่อเพิ่มผลผลิตและนำไปสู่การเกษตรที่ทันสมัยและเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในภูมิภาค
ปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการเกษตรอย่างหลากหลาย อาทิ สหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่ประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์ยกระดับการเพาะปลูก ขณะที่ ออสเตรเลีย ที่ปลูกข้าวโดยใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ รวมถึงการใช้โดรน ในการตรวจสอบพื้นที่แทนแรงงานในสิงคโปร์ หรือการวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูกผ่านดาวเทียม ในอินโดนีเซีย หรือในไทยเองก็มีสตาร์ทอัพ ที่ให้ความสนใจด้านการเกษตร อาทิ Gaorai (เก้าไร่) ที่ระบบปฏิบัติการเทคโนโลยีที่จะใช้โดรนในการรดน้ำ พ่นยา ให้กับพืช ช่วยลดค่าใช้จ่ายเกษตรกรได้ถึง 30%
“นวัตกรรมการ เกษตรสมัยใหม่ ” (AGTECH) หรือ Agricultural Technology จึงกลายเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาภาคการเกษตรให้ก้าวหน้าและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” (NIA) ได้อธิบาย การทำเกษตรยุคใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรมากมาย ซึ่งถูกนำมาใช้พัฒนาวิถีการทำการเกษตร อำนวยความสะดวกให้กับชีวิตของเกษตรกรยุคใหม่ (Smart Farmer) รวมถึงช่วยแก้ปัญหาทั้งด้านพื้นที่การเกษตรที่ลดลงเพราะการขยายตัวของสังคมเมือง สภาพดินฟ้าอากาศ จำนวนเกษตรกรที่น้อยลง ผลกระทบจากภัยพิบัติ ฯลฯ เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการบริโภคได้
6 เทรนด์ “AGTECH” ที่จะเปลี่ยนอนาคตการเกษตร
เกษตรดิจิทัล เป็นการใช้ประโยชน์จากการเก็บข้อมูลด้าน การเกษตร ต่างๆ ทั้ง สภาพดิน สภาพน้ำ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง พื้นที่เพาะปลูก สถานการณ์เจริญเติบโต ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ช่วยหาแนวทางการทำการเกษตรที่เหมาะสม แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับเกษตรกร สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาต่อยอดควบคู่กับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้
เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรนและระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีบทบาทในปัจจุบันที่เกษตรกรปัจจุบันลดน้อยลง เพื่อช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน แต่ยังคงสร้างผลผลิตได้เท่าเดิม หรือมากขึ้นกว่าเดิม ช่วยให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ต้นทุนถูกลง และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร
เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เป็นการประยุกต์ศาสตร์ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งชีววิทยา เคมี และองค์ความรู้ด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาจุลินทรีย์ที่การใช้งานทางการเกษตร การดัดแปลงยีน ปรับปรุงพืชหรือสัตว์ ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร มีการใช้แพร่หลาย เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในดิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตและทนต่อสภาวะแล้ง ทนทานต่อวัชพืช ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้ทนทานต่อโรคระบาด
การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ เป็นเทรนด์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ควบคุมปัจจัยการเติบโตของพืชและสัตว์ และช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องความเสียหายของผลิตผล ไม่ว่าจะเป็น “เกษตรกรรมในพื้นที่ที่ควบคุมสภาพแวดล้อม” (Controlled Environment Agriculture) ซึ่งสามารถควบคุมบรรยากาศทั้งแสง ความชื้น ปลอดแมลง ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี และไม่กระทบต่อมลภาวะทางอากาศ สามารถปลูกพืชระบบน้ำหมุนเวียน ระบบรากอากาศ และการปลูกพืชในน้ำ หรือการทำโรงงานปลูกพืชระบบปิด (Plant Factory) รวมถึงเทรนด์การทำ “ฟาร์มเลี้ยงแมลง” แหล่งโปรตีนแห่งอนาคตที่ทั่วโลกกำลังจับตา
การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง เนื่องจากไทยเป็นเมืองร้อน อาจส่งผลให้สินค้าเกษตรบางอย่างง่ายต่อการเน่าเสีย จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมที่กำลังเป็นที่สนใจอย่าง บรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุและเก็บรักษาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตที่สะดวกแม่นยำ ไม่ทำลายผลผลิต และนวัตกรรมที่ใช้ในการขนส่งได้รวดเร็วหลังการเก็บเกี่ยว เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศด้วยโอโซน หรือการพัฒนาสารเคลือบผิวชนิดใหม่ โดยฝีมือสตาร์ทอัพ AgTech ไทย เป็นต้น
บริการทางธุรกิจเกษตร แม้จะรู้ว่านวัตกรรม AgTech จะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ แต่ด้วยโครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ส่วนมากเป็นการทำการเกษตรขนาดปานกลางถึงเล็ก ทำให้ตัวเกษตรกรไม่สามารถลงทุนซื้อตัวนวัตกรรมมาเป็นของตัวเองได้ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ ในการให้บริการทางธุรกิจเกษตร ที่ให้เกษตรกรสามารถเช่ายืมนวัตกรรมด้านการเกษตรได้ในที่จับต้องได้ เช่น ระบบจองเครื่องจักรด้านการเกษตร บริการแพลตฟอร์มขายผลผลิตการเกษตรออนไลน์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แก้ปัญหาการกดราคาผลผลิต และช่วยเชื่อมโยงเกษตรกร กับผู้บริโภค โรงงานอุตสาหกรรม หรือร้านอาหาร และให้พวกเขาสามารถค้าขายได้อย่างต่อเนื่อง
หนึ่งตัวอย่างของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเกษตร (AgTech) ของสหรัฐอเมริกา อย่าง “โลคัล บาวติ กรุ๊ป” (Local Bounti) ได้มีการระดมทุน เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ที่ควบคุมสภาพแวดล้อม (Controlled Environment Agriculture) สอดคล้องกับมาตรฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESGs)
“โลคัล บาวติ กรุ๊ป” มีแผนร่วมกับ Leo Holdings III ในการยกระดับ ให้สามารถเข้าถึงประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนได้รับอาหาร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่บางแห่งที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์คุณภาพได้
ล่าสุด “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้ร่วมลงทุนใน โลคัล บาวติ กรุ๊ป และนอกจากนี้ โลคัล บาวติ ยังมีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับ “คาร์กิลล์” (Cargill) บริษัทผู้นำด้านอาหารและเกษตรกรรมในสหรัฐอเมริกา ที่จะให้ความช่วยเหลือ โลคัล บาวติ กรุ๊ป ด้านเงินกู้ราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเร่งการขยายธุรกิจการเกษตรในร่ม (Indoor Farming) ในทำเลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ทั่วพื้นที่สหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก เพื่อส่งมอบผลผลิตที่มีคุณภาพ สดใหม่ รสชาติดี ให้กับคนในชุมชน ควบคู่ไปกับการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศให้น้อยที่สุด
Discussion about this post