นวัตกรรมเพิ่มคุณภาพชีวิตใน “โครงการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่โรงเรียน ตชด. และชุมชนชายขอบ” เป็น 1 ในผลงานวิจัยของ สวทช. และพันธมิตร เพื่อบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่โรงเรียน ตชด. และชุมชนชายขอบ จังหวัดอุดรธานี เป็นการผสานพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกรองน้ำดื่มที่ใช้พลังงานต่ำอย่างเทคโนโลยีการกรองด้วย ‘อัลตร้าฟิวเตรชั่น’ ช่วยให้คนในพื้นที่เข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด
ดร.จามร เชวงกิจวณิช นักวิจัยจากทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคนี้ เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. 2561 ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเทพภูเงิน ตำบลน้ำโสม อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้า, ขาดการเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด และเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้ชาวบ้านกังวลกับการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำผิวดินของชุมชน
จากปัญหา ข้อจำกัด และความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาดในพื้นที่ จึงมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้ในการช่วยบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ร่วมกับระบบกรองน้ำดื่มที่ใช้พลังงานต่ำ โดยพัฒนาเป็นต้นแบบบ้านน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำหรับน้ำบาดาลที่มีสารละลายในน้ำอยู่น้อย (total dissolved solid < 500 mg/L) โดยการใช้เทคโนโลยีการกรองด้วยอัลตร้าฟิวเตรชั่น (ultrafiltration: UF) ซึ่งเทคโนโลยี UF เป็นเทคโนโลยีการกรองด้วยเมมเบรนละเอียด มีความเหมาะสมในการนำมาผลิตน้ำดื่ม สามารถกรองเชื้อโรคในน้ำได้ดี และสามารถคงแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายมนุษย์ได้มากกว่าระบบรีเวิร์สออสโมซิส (RO)
และจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำให้ “บ้านน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ระบบ UF” ประสบความสำเร็จ ในปีพ.ศ. 2562 โดยมีกำลังการผลิต 250 ลิตรต่อชั่วโมง และตั้งอยู่ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเทพภูเงิน ตำบลน้ำโสม อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี โดยมีการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลก่อนและหลังกรองด้วยระบบ UF ซึ่ง อ้างอิงตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย ปี พ.ศ. 2563 บ้านน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ระบบ UF สามารถผลิตน้ำดื่มสะอาดได้ตามมาตรฐานกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และใช้พลังงานต่ำเพียง 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ต่อการผลิตน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่เทคโนโลยี RO เป็นเทคโนโลยีที่ต้องการพลังงานสูงถึง 5-6 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อการผลิตน้ำดื่ม 1 ลูกบาศก์เมตร
ที่มา : bangkokbiznews
Discussion about this post