ในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยโรคระบาด ภัยพิบัติจากธรรมชาติ รวมถึงอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสภาวะโลกร้อน ทำให้ต้องหาทางที่จะช่วยชะลอความรุนแรงของภัยพิบัติเหล่านี้ ซึ่ง Green Trend หรือการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ช่วยตอบโจทย์ และนวัตกรรม “Cool to Touch” ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งพัฒนาโดย ผศ.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
“Cool to Touch” คือถ้วยและฝาปิดสำหรับใส่เครื่องดื่มร้อนที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 80 องศาเซลเซียสขึ้นไป ผลิตขึ้นจาก “โฟมเชิงประกอบชีวภาพ” ที่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการบรรจุภัณฑ์โดยสิ้นเชิง โดยทั่วไปแล้วโฟมจะผลิตจากพลาสติกหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ไม่สามารถสร้างทดแทนใหม่ได้แล้ว ยังไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลในกระบวนการผลิต แต่สำหรับโฟมเชิงประกอบชีวภาพจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เพราะโฟมชนิดนี้จะตั้งต้นจากพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยการทำงานของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากแบคทีเรีย รา หรือสาหร่าย และวัตถุดิบในการผลิตโฟมประเภทนี้ก็คือวัตถุดิบที่สามารถปลูกทดแทนใหม่ได้
นอกจากตั้งต้นจากพลาสติกชีวภาพแล้ว “Cool to Touch” ยังเสริมความแข็งแกร่งด้วยการนำ “เซลลูโลส” ซึ่งมีแหล่งเส้นใยจากพืชธรรมชาติมาปรับปรุงคุณสมบัติของพอลิเมอร์ จนทำให้ทนความร้อนได้สูง สีสันสม่ำเสมอ น้ำหนักเบา ขึ้นรูปง่าย และราคาถูก
สำหรับ “Cool to Touch” ปัจจุบัน ผศ.ดร.ชิราวุฒิ และ อาจารย์สุวรา วรวงศากุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประดิษฐ์ ได้โอนสิทธิอนุสิทธิบัตรให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้นวัตกรรมชิ้นนี้ได้มีส่วนรับใช้สังคมต่อไป
ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th
ที่มา : tu.ac.th
Discussion about this post