ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าหุ่นยต์เริ่มเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราเพิ่มขึ้น เมื่อ International Federation of Robotics (IFR) พบว่า ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 31% หรือ 48 ล้านตัว ภายในปี 2564 โดยกลุ่มหุ่นยนต์ที่โตที่สุด คือ กลุ่มหุ่นยนต์ใช้สำหรับงานบริการตามที่อยู่อาศัย (Service Robot) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และคาดการณ์ว่าในปี 2564 ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 19% ซึ่งจะมีการขยายตัวเร็วที่สุดสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ในระดับโลก รองจากบราซิล 33% อินเดีย 26% และจีน 22%
หนึ่งในผู้ที่มีบทบาททำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยเติบโตคือ บริษัทโอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ล่าสุดได้จับมือกับพันธมิตร MQDC (บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านอื่นๆ จนครอบคลุมถึงภาคการบริการทั่วไป ได้แก่ ‘ไข่ต้ม (KAITOMM), เอสอาร์วัน (SR1) รวมทั้ง ปิ่นโต (PINTO) และ ‘กระจก (MIRROR) หุ่นยนต์และเทคโนโลยีที่ทางบริษัทฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาร่วมกับทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (MI Workspace)
4 หุ่นยนต์ “ไข่ต้ม- SR1-ปิ่นโต-กระจก” มีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งได้ดังนี้
ไข่ต้ม (KAITOMM) หุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว (Companion/Personal Assistant Robot) ที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของคนทุกวัย ทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น โดยสามารถรับคำสั่งและพูดคุยกับผู้ใช้งานในภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ ผ่านการเชื่อมต่อกับระบบบ้านอัจฉริยะ (Home Automation) เช่น การเปิด/ปิดไฟ
นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับวัดค่าสัญญาณชีพต่างๆ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพของเจ้าของผู้ใช้งาน และหุ่นยนต์มีกล้องภายในตัว สามารถใช้เป็นกล้องวงจรปิด หรือโทรวีดีโอคอลได้ และฟังก์ชันอื่นๆ เช่น เล่นเพลง สวดมนต์ เช็คสภาพอากาศ ฯลฯ
เอสอาร์วัน (SR1) หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย มีระบบเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ได้อัตโนมัติ (Auto-Navigation System) ประกอบด้วยกล้องรอบตัว 360 องศา เพื่อเก็บข้อมูลภาพและเสียงที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจจับวัตถุต่างๆ ตามที่ต้องการ เช่น ใบหน้า สิ่งของ สิ่งมีชีวิต หรืออาวุธ พร้อมทั้งส่งข้อมูลแจ้งเตือนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้รับผิดชอบรับทราบได้ทันที นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันการโทรฉุกเฉินที่ผู้อยู่อาศัยหรือผู้คนรอบๆ สามารถกดปุ่มเพื่อโทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากตัวหุ่นยนต์ได้ในทันที
ปิ่นโต (PINTO) หุ่นยนต์รถเข็นส่งอาหารผู้ป่วย (Quarantine Delivery Robot) ที่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่จากระยะไกลได้
กระจก (MIRROR) เป็นแท็บเลตใช้สำหรับสื่อสารทางไกล สามารถใช้พูดคุยระหว่างคนไข้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ทันที โดยไม่ต้องกดรับสาย และคนไข้สามารถกดเรียกหาพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ
พลณัฏฐ์ เฉลิมวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัทโอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) เปิดเผยถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ในครั้งนี้ ว่า “บริษัทคำนึงถึงการนำไปใช้งานและก่อให้เกิดประโยชน์ เน้นให้หุ่นยนต์สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันกับการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตของมนุษย์ได้อย่างกลมกลืน เช่น สามารถทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับโครงการที่พักอาศัยและสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติและมีประสิทธิภาพ”
ที่มา : SME StartUp
Discussion about this post