เมื่อใดที่เกิดความผิดปกติขึ้นในช่องปากซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งในช่องปาก หากพบความผิดปกติได้เร็วขึ้นเท่าใด หมายถึงอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยจะมีมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้รับการคัดกรองเสียตั้งแต่เนิ่นๆ โดยทันตแพทย์-แพทย์
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาสมาคมศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล เป็นงานที่รับผิดชอบในการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติต่างๆ ภายในช่องปาก ตลอดจนกระดูกขากรรไกร และใบหน้า โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทันตแพทย์เชื้อโชติ หังสสูต ถือเป็นบิดาแห่งวงการศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล และเป็นบุคคลแรกที่สำเร็จการศึกษา ทั้งทางทันตแพทยศาสตร์ และแพทยศาสตร์ คนแรกของประเทศไทย
สำหรับที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บุคคลแรกที่สำเร็จการศึกษาทั้งทางทันตแพทยศาสตร์ และแพทยศาสตร์ ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์วีระศักดิ์ ไพรัชเวทย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการบริการ ปีการศึกษา 2546
ซึ่งการที่มีบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาทั้งทางทันตแพทยศาสตร์ และแพทยศาสตร์มาทำงานด้านศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล จะทำให้สามารถทำงานในเชิงลึกได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมา นอกจาก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์วีระศักดิ์ ไพรัชเวทย์ มีผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการบริการ อีก 2 ราย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทันตแพทย์เกียรติอนันต์ บุญศิริเศรษฐ ในปีการศึกษา 2558 และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์บวร คลองน้อย ในปีการศึกษา 2562 ซึ่งได้รับรางวัลดังกล่าวจากการเป็นผู้ทำงานในเชิงรุก ลงพื้นที่นำร่องคัดกรองมะเร็งช่องปากในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ 4 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ประสานการทำงานกับเครือข่ายชุมชนในพื้นที่นำร่อง เป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์บวร คลองน้อย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก ส่วนใหญ่มักพบในระยะท้าย เนื่องจากมักไม่แสดงอาการในระยะแรก จึงทำให้มีโอกาสรอดชีวิตน้อย จากการลงพื้นที่พบว่ากลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และมีพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค คือ สูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก และดื่มสุรา ซึ่งจากการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ประสานการทำงานกับเครือข่ายชุมชนในพื้นที่นำร่องดังกล่าว ส่งผลให้สามารถคัดกรองโรคมะเร็งในช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายต่อปีแห่งสุขภาวะ (Quality Life Year) ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งการลงพื้นที่คัดกรองโรคมะเร็งช่องปากจะต้องตอบโจทย์ 4C คือ “Coverage” ครอบคลุมประชาชนทุกคนที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคให้ได้รับโอกาสในการตรวจมากที่สุด “Completeness” มีความสมบูรณ์ตั้งแต่กระบวนการซักประวัติ ตรวจช่องปาก และตรวจชิ้นเนื้อ “Compliance” ทำให้เกิดความร่วมมือในทุกระดับ และ “Continuing” ทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน
ซึ่งการทำงานเครือข่ายพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และระดับอำเภอ โดยในระดับหมู่บ้านได้มีการประสานงานกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ระดับตำบลประสานงานกับทันตาภิบาลประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และระดับอำเภอประสานงานกับทีมทันตแพทย์ศูนย์โรคมะเร็ง โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์บวร คลองน้อย หวังที่จะผลักดันการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศประสานการทำงานกับเครือข่ายชุมชนในพื้นที่นำร่อง สู่นโยบายทันตสาธารณสุขแห่งชาติ จากการ “คิดนอกกรอบ” แทนที่จะรอให้ผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษา ซึ่งเป็นวิธีเชิงรับ มาปรับสู่เชิงรุกออกไปหาผู้ป่วยตั้งแต่ระยะแรกๆ เพื่อการรักษาตั้งแต่ต้นมือ จากความรู้และเชี่ยวชาญ ทั้งในฐานะที่เป็นทันตแพทย์และแพทย์ ด้วยความเชื่อมั่นในพระราชดำรัสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ที่ว่า “ความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การได้มาซึ่งความรู้แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรู้จักนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในเกิดประโยชน์สูงสุดแก่มวลมนุษยชาติ”
ติดตามข่าวที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
Discussion about this post