ฟลูออไรด์ที่ปนอยู่ในน้ำปริมาณมาก หากได้รับเข้าสู่ร่างกายติดต่อกันนานๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดร.ณัฏฐพร พิมพะ หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. พร้อมทีมวิจัยและ รองศาสตราจารย์ ดร.ปฎิภาณ ปัญญาพลกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการกรองแก้ไขปัญหาฟลูออไรด์ในน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน ด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น นำร่องใช้งานที่ “บ้านใหม่ในฝัน” จ.น่าน หวังต่อยอดเทคโนโลยีสู่พื้นที่ที่มีปัญหาด้านน้ำอื่นต่อไป
ฟลูออไรด์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของแร่ธาตุในชั้นหิน ทำให้ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีฟลูออไรด์ละลายอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วแหล่งน้ำบาดาลส่วนใหญ่มักมีค่าความเข้มข้นของฟลูออไรด์สูงกว่าแหล่งน้ำผิวดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุและชั้นหินต่างๆ ฟลูออไรด์ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในการรักษาสุขภาพช่องปาก อย่างไรก็ตามการได้รับความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่สูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก่อให้เกิดโรคฟลูออโรซีส (Fluorosis) ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคดังกล่าวคือ การทำให้ฟันตกกระและทำลายโครงสร้างของฟัน ขณะที่การรับฟลูออไรด์ปริมาณมากเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้มีการสะสมของฟลูออไรด์ในกระดูก ทำให้ขามีลักษณะพิการที่เรียกว่า ขาโกง (Crippling skeletal fluorosis) ทั้งนี้อาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเหมือนเดิมได้ รวมทั้งส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองในเด็ก ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคชนิดอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ 0.7 มิลลิกรัมต่อกรัม โดยค่าอนุโลมสูงสุด ไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อกรัม
“เราตั้งเป้าที่จะร่วมกันวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพน้ำสำหรับบริโภคอย่างยั่งยืนและชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว จึงได้บูรณาการนำวัสดุที่มีในท้องถิ่น เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตชุมชน ควบคู่กับการให้ความรู้ด้านคุณภาพน้ำ โดยดำเนินการโครงการนำร่องที่หมู่บ้านบ้านใหม่ในฝันตั้งอยู่ที่ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งประสบปัญหาฟลูออไรด์ปนเปื้อนในน้ำบาดาล” นักวิจัยนาโนเทค กล่าว
จุดเด่นของโครงการนี้คือ การพัฒนาวัสดุกรองถ่านกระดูกสัตว์ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้ง จึงมีราคาถูก และชุมชนสามารถพัฒนาวัสดุกรองได้เอง และการออกแบบระบบกรองที่ใช้งานและบำรุงรักษาง่าย ต้นทุนต่ำ
สำหรับวัสดุกรองถ่านกระดูกสัตว์เพื่อกำจัดฟลูออไรด์นั้น อาศัยข้อดีของโครงสร้างทางเคมีของกระดูกที่ประกอบด้วยไฮดรอกซีอะพาไทต์ เมื่อผ่านกระบวนการเผาในสภาวะที่เหมาะสมจะได้วัสดุกรองถ่านกระดูกสัตว์ที่สามารถกำจัดฟลูออไรด์ได้ดี การออกแบบระบบกรองจะประกอบด้วยถ่านกระดูกสัตว์และถ่านกัมมันต์ โดยคำนึงถึงพารามิเตอร์ต่างๆ ในการเดินระบบที่เหมาะสม เช่น ปริมาตรของวัสดุกรอง อัตราการใช้วัสดุกรอง ความเข้มข้นของฟลูออไรด์เริ่มต้นในน้ำดิบ และองค์ประกอบของน้ำดิบ เพื่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านเพื่อกำจัดฟลูออไรด์และปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลให้เหมาะสมสำหรับการบริโภค
ดร.ณัฏฐพร กล่าวว่า อีกเรื่องที่สำคัญคือ การให้ความรู้และสาธิตวิธีการวิเคราะห์คุณภาพน้ำเพื่อสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจ ที่จะนำไปสู่การดูแลตัวเอง และบริหารจัดการปัญหาน้ำในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
“เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาฟลูออไรด์ปนเปื้อนในน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับพื้นที่ชายขอบ” เป็น 1 ในผลงานวิจัยของ สวทช. และพันธมิตร ที่จะนำเสนอภายในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2564 (NAC2021: NSTDA Annual Conference 2021) โดยจัดบนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac/2021 ระหว่างวันที่ 25-30 มีนาคม 2564
ที่มา : nstda.or.th
Discussion about this post