ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ปริมาณขยะติดเชื้อทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัยใช้แล้ว เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วปนเปื้อนด้วยเสมหะ น้ำลาย น้ำมูกของบุคคลผู้ใช้ และอาจยังปนเปื้อนเชื้อโรคจากบุคคลที่ป่วย หรือผู้เป็นพาหะนำโรคได้ ถ้าหากไม่มีการกำจัดขยะติดเชื้อเหล่านี้อย่างถูกวิธีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชนและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้
รศ.ดร.นัฐพร ไชยญาติ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีแนวคิดต้องการแก้ปัญหาปริมาณขยะติดเชื้อทางการแพทย์ ที่มีปริมาณมากในปัจจุบัน โดยไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ จึงได้คิดค้นนวัตกรรม “ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์” ซึ่งเป็นการนำเทคนิคการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมกับการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ เป็นระบบแรกของประเทศไทย โดย รศ.ดร.นัฐพร หัวหน้าทีมวิจัย ได้ชี้ถึงประโยชน์ที่ได้รับถึง 3 ต่อ จากงานวิจัยชิ้นนี้ นั่นคือ เป็นการบริหารจัดการที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ อีกทั้งยังสอดรับกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของกระทรวงพลังงานได้
ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์ เครื่องต้นแบบขนาดเล็ก มีอัตราการเผาไหม้เชื้อเพลิงขยะติดเชื้อประมาณ 250 กิโลกรัมต่อชั่วโมง โดยกระบวนการทำงานเริ่มจากการนำขยะติดเชื้อทางการแพทย์ที่ผ่านการบำบัดด้วยเทคนิคบด ย่อย และฆ่าเชื้อด้วยความร้อน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงและถ่ายเทความร้อนจากกระบวนการเผาไหม้ให้แก่น้ำสะอาด ซึ่งนวัตกรรมการถ่ายเทความร้อนภายในห้องเผาไหม้โดยตรงให้แก่ของไหลสะอาด ถือได้ว่าเป็นต้นแบบเตาเผาขยะเครื่องแรกของประเทศไทยอีกด้วย จากนั้นนำความร้อนที่ได้จ่ายให้แก่วัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์เพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าสุทธิประมาณ 20 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 20 หน่วยไฟฟ้า และเมื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าการกำจัดขยะติดเชื้อ 1 กิโลกรัม มีต้นทุนโดยเฉลี่ยตลอดโครงการเพียง 3.185 บาท ต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องจ้างขนขยะติดเชื้อทางการแพทย์ไปกำจัดถึงกิโลกรัมละประมาณ 10-15 บาท ขึ้นกับระยะทางของโรงพยาบาล รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยตลอดโครงการ 3.302 บาทต่อหน่วย ที่สำคัญสามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
หัวหน้าทีมวิจัย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า “ระบบที่สร้างขึ้นมานี้ ถือเป็นระบบแบบไฮบริดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน เพราะในการเผาไหม้จะไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และสามารถเผาไหม้ได้ทั้งหมด 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% จะเป็นขี้เถ้าจากการเผาไหม้ซึ่งจะพัฒนาใช้ประโยชน์ ในการนำมาบดอัดเพื่อผลิตให้เป็นก้อนอิฐในการก่อสร้างต่อไป”
ปัจจุบัน “ระบบต้นแบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์” ได้รับการขยายผลต่อยอดเชิงพาณิชย์และใช้งานจริงในโรงพยาบาลและหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง และได้พัฒนาต่อยอดเพื่อใช้กับขยะทั่วไปอีกด้วย ผลงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นอีกทางเลือกในการช่วยแก้ปัญหาการกำจัดขยะซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วแล้วทิ้งที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 พร้อมทั้งยังสร้างพลังงานทดแทนและช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ที่มา : https://green.mju.ac.th/?p=5481
Discussion about this post