“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม. เชิญชวนประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯ ที่พบเจอปัญหาเหล่านี้ น้ำท่วม พื้นผิวการจราจร ทางเท้าสกปรก สายสื่อสารรุงรัง ฝาท่อน้ำถูกเปิดทิ้งไว้ โรงงานส่งกลิ่นเหม็นไปจนถึงขยะตามพื้นที่สาธารณะ สามารถแจ้งผ่าน Traffy Fondue บนสมาร์ทโฟน
Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์ / ท่านพี่ฟ้องดู) ที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ นำมาใช้งานนั้นพัฒนาโดย ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเปิดให้ใช้งานตั้งแต่ มิ.ย.2561 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เช่น อบต. เทศบาล อาคารสำนักงาน หน่วยงานด้านงานบริการสาธารณะ ตลอดจนภาคเอกชน เช่น โครงการบ้านจัดสรร มีช่องทางใหม่ในการรับแจ้งและจัดการปัญหาที่พบ ผ่าน LINE chatbot แบบอัตโนมัติ จึงช่วยอำนวยความสะดวกในการรับแจ้งปัญหา พร้อมทั้งส่งตรงถึง ‘หน่วยงานผู้รับผิดชอบ’ ช่วยให้เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาได้รวดเร็ว ปัญหาไม่ลุกลาม ตรงตามความต้องการของประชาชน ที่สำคัญตรวจสอบได้
แพลตฟอร์ม Traffy Fondue เกิดขึ้นจากการผสานการทำงานของ 2 เทคโนโลยีหลัก คือ Geographical Information System (GIS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพื่อการจัดเก็บรายละเอียดข้อมูล ตำแหน่งของสถานที่ รวมถึงรูปภาพของสถานที่ และเทคโนโลยี AI ซึ่งทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูล Big Data ออกมาเป็นข้อมูลที่พร้อมใช้งาน รวมถึงการมีจุดแข็งที่การมีแพลตฟอร์มให้ประชาชนทั่วไปใช้งานได้ง่าย ทำให้สามารถประยุกต์ใช้งานแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อส่งเสริมการเป็น Smart City ในด้านอื่นๆ ให้กับประเทศได้อีกหลากหลาย
ดร.วสันต์ อธิบายว่า Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างประชาชนกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ทำหน้าที่รับแจ้งปัญหา (Ticketing system) ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (Line) ซึ่งมีระบบแชตบอต (Chatbot) หรือระบบตอบอัตโนมัติในการสอบถามรายละเอียดของปัญหาและข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น อาทิ ตำแหน่งที่ตั้งและภาพถ่ายของปัญหา จากนั้น AI จะทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหานั้นๆ แล้วจัดส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแบบเรียลไทม์ โดยผู้ดูแลรับผิดชอบปัญหาสามารถส่งรายงานความคืบหน้าการแก้ไขให้ประชาชนรับทราบผ่านระบบด้วยเช่นกัน
ปัญหาเมืองที่ประชาชนสามารถแจ้งผ่าน Traffy Fondue มี 16 ด้านหลัก คือ
ไฟฟ้า/แสงสว่าง
ประปา
จราจร/รถยนต์
ถนน
ทางเท้า
ระบบสื่อสาร
กลิ่น
เสียง
ความสะอาด
ความปลอดภัย
ต้นไม้สาธารณะ
อาคารชำรุด
วัสดุชำรุด
ห้องประชุม
ระบบปรับอากาศ
สัตว์
แต่ด้วยการออกแบบระบบให้มีความยืดหยุ่นสูง จึงสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของ Traffy Fondue ให้สอดคล้องกับสถานการณ์หรือความต้องการของผู้รับแจ้งได้อีกด้วย
หากจุดที่เกิดเหตุยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบลงทะเบียนไว้ในแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ระบบจะดำเนินการแจ้งให้ผู้แจ้งเหตุรับทราบโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้แจ้งดำเนินการแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการใช้ Traffy Fondue อย่างแพร่หลายแล้วในหลายพื้นที่ของหลายจังหวัด เช่น ในจังหวัดอุบลราชธานี ปทุมธานี และชลบุรี
ขั้นตอนการใช้งานสำหรับประชาชน
Traffy Fondue ใช้งานง่าย ไม่มีมีค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ประชาชนผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องมีเบอร์หน่วยงาน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เพียงเข้าแอปพลิเคชันไลน์ แล้วเพิ่มเพื่อน ID @traffyfondue ก็จะสามารถพิมพ์แจ้งปัญหาได้ทันทีที่หน้าแชต เช่น พิมพ์แจ้งว่า ‘พบปัญหาถนนชำรุด’ หรือ ‘ได้กลิ่นสารเคมี’ เป็นต้น ระบบจะสอบถามรายละเอียดที่จำเป็นเพิ่มเติมโดยอัตโนมัติ หลังจากแจ้งปัญหาแล้ว ผู้แจ้งสามารถติดตามการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่ได้ผ่านหน้าแชตเดิม รวมถึงประเมินความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย
ระบบ Traffy Fondue เปิดใช้งานเมื่อ มิ.ย.2561 นำร่องที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ใช้ระบบนี้แล้วเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยเทศบาล 357 แห่ง อบต. 350 แห่ง หน่วยงานสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 96 หน่วยงาน นิคมอุตสาหกรรม 12 แห่ง ทั้งยังมีหน่วยงานที่เป็นธุรกิจเอกชน เช่น โครงการบ้านจัดสรร ที่ใช้ระบบนี้ในการรับแจ้งปัญหาอาคาร สถานที่ หรือปัญหาประเภทอื่นๆ อีกมากกว่า 600 หน่วยงาน ทีมงานพัฒนาระบบให้รองรับการใช้งานได้ถึง 10,000 แอคเคาท์
ล่าสุดเนคเทคได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำหรับขยายผลการใช้งานระบบ Traffy Fondue ไปสู่เทศบาลและ อบต. ทั่วประเทศภายใน 2 ปีข้างหน้า
ทีมงานพัฒนาระบบ Traffy Fondue ให้มีความเสถียรเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการและการใช้งาน โดยตัวระบบที่ใช้กับ กทม.ก็เป็นระบบเดียวกับที่ใช้ใน จ.อุบลราชธานี หรือที่ อบต.ขนงพระ จ.นครราชสีมา อบต. เข็กน้อย จ.เพชรบูรณ์ และอบต.โพนงาม จ.อุดรธานี ก็ใช้ระบบเดียวกันแม้จะอยู่ต่างพื้นที่ก็ตาม เพียงแต่จะมีคิวอาร์โค้ดเท่านั้นที่แยกเฉพาะหน่วยงาน”
ดร.วสันต์เสริมว่า นอกจากการให้ความสำคัญเรื่องความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทีมวิจัยให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ ‘ความยั่งยืนของแพลตฟอร์ม’ จึงได้มีการออกแบบให้ระบบ Traffy Fondue จัดเก็บข้อมูลและประมวลผลการทำงานผ่านระบบคลาวด์ ทำให้สามารถขยายพื้นที่จัดเก็บข้อมูล รวมถึงพัฒนาความฉลาดให้กับระบบประมวลผลได้อยู่เสมอ ระบบจึงมีความพร้อมในการให้บริการในระยะยาว
ทีมงานตั้งเป้าหมายให้ Traffy Fondue เป็นเครื่องมือรับแจ้งปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ คล้ายกับ one stop service ทุกปัญหาสามารถแจ้งผ่านระบบฯ โดยที่ประชาชนผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องรู้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ หรือไม่ทราบว่าจะร้องเรียนไปยังหน่วยงานใด ทาง Traffy Fondue จะดำเนินการส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานผู้ดูแลโดยอัตโนมัติ
สำหรับ Traffy Fondue ในปี 2565 จะมีการพัฒนาเพิ่ม 4 ฟังก์ชันใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวใช้งานในเร็วๆ นี้ ได้แก่ 1.ตัวระบบจะมีการพัฒนาให้สวยงามและใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น 2.การให้บริการผ่าน Line โดยตรง จากปัจจุบันผู้ใช้จะต้องดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชัน Traffy Fondue 3.ปรับปรุงระบบแสดงผล dashboard และฐานข้อมูลการใช้บริการ เช่น สถิติการร้องเรียน พื้นที่ที่ถูกร้องเรียน ประวัติการส่งเรื่องร้องเรียนและจำนวนที่ได้รับการแก้ไข ระยะเวลากี่วัน การให้คะแนน ในส่วนนี้จะคล้ายกับแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ ที่มีประวัติการซื้อสินค้า ระยะเวลาการจัดส่ง การให้คะแนนร้านค้า เป็นต้น 4.การปรับปรุง Line รับแจ้งเรื่องให้ทันสมัย ใช้ง่าย
ด้วยจุดแข็งทั้งหมดนี้ทำให้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลระดับชาติมาแล้วหลายรางวัล อาทิ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ จากเวที “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติปี 2564” และรางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูง ปี 2565 ระดับดี จากเวที “Prime Minister’s TRIUP Award for Research Utilization with High Impact 2022”
เนคเทค สวทช. พร้อมให้บริการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ในรูปแบบเฉพาะที่หน่วยงานต้องการ ติดต่อขอรับบริการได้ที่ไลน์ ID @fonduehelp หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Traffy Fondue ได้ที่ www.traffy.in.th
Discussion about this post