ความยั่งยืนไม่ใช่เกิดจากเพียงการแข่งขันเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดเท่านั้น แต่สังคมรอบข้างต้องอยู่รอดด้วย ซึ่งความเป็นเลิศไม่ได้วัดการแต่เพียงความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่วัดกันด้วยการนำองค์ความรู้มาทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย
อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงงานพันธกิจสัมพันธ์ (Social Engagement) ที่ดำเนินการโดยวิทยาเขตนครสวรรค์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน โดยถือเป็นนโยบายหลัก เนื่องด้วยวิทยาเขตนครสวรรค์ มีที่ตั้งอยู่ในชุมชนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ การสร้างเครือข่ายชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ งานวิจัยส่วนใหญ่ของวิทยาเขตนครสวรรค์จึงเกิดจากความร่วมมือกับชุมชน จากการลงพื้นที่จริง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชน ในลักษณะร่วมกันคิดร่วมกันทำ โดยมีเป้าหมายเพื่อความสำเร็จร่วมกัน เมื่อชุมชนเข้มแข็ง วิทยาเขตนครสวรรค์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนก็จะได้รับผลจากการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถขยายผลสู่ระดับประเทศได้ต่อไป
“โครงการวิจัยเพื่อการแก้ปัญหายาเหลือใช้ในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ อาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นตัวอย่างหนึ่งในโครงการพันธกิจสัมพันธ์ (Social Engagement) ของวิทยาเขตฯ ที่นับเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล
จากการลงพื้นที่ชุมชนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านการประสานงานโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบล (รพ.สต.) บ้านเขาทอง แล้วพบปัญหาผู้สูงวัยที่เป็นผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ส่วนใหญ่มักลืมรับประทานยา และมียาเหลือใช้ ซึ่งเมื่อนำมาประเมินมูลค่าพบว่าจะเป็นการสูญเสียทรัพยากรและสิ้นเปลืองงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ จึงได้คิดค้นนวัตกรรม “กระเป๋าคืนยาช่วยชาติ” เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการช่วยจัดและแจกกระเป๋ายา รวมทั้งให้คำแนะนำ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ผ่านสื่อวิทยุชุมชนตำบลเขาทองโดยทีมวิจัยที่มีทั้งอาจารย์ เภสัชกร พยาบาล และนักศึกษาของวิทยาเขตฯ ร่วมด้วยช่วยกันอย่างแข็งขัน
“กระเป๋าคืนยาช่วยชาติ” ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากด้านในจะมีช่องใส่ยาที่แยกประเภทยาก่อนและหลังอาหารอย่างชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการให้ผู้ป่วยสูงวัยหยิบยามารับประทานแล้ว ยังออกแบบโดยใช้กุศโลบายที่ทำด้านหนึ่งของกระเป๋ายาด้านนอกให้มีรูปนาฬิกา เพื่อเป็นเครื่องหมายคอยเตือนไม่ให้ผู้ป่วยสูงวัยลืมรับประทานยา และเมื่อพลิกอีกด้านของกระเป๋ายาจะเห็นข้อความเตือนใจให้ส่งคืนยาเมื่อมียาเหลือ พร้อมแสดงสถิติงบประมาณที่รัฐต้องสูญเสีย หากมียาเหลือใช้
โดยทีมวิจัยมีความตั้งใจจะขยายผลโครงการฯ ไปยังชุมชนอื่นที่ไม่มีสถานีวิทยุประจำชุมชนเป็นสื่อเสริม แต่จะใช้สื่อบุคคลโดยให้คนในชุมชนด้วยกันเองช่วยกันแนะนำ ซึ่งจะเป็นการให้คนในชุมชนได้ดูแลซึ่งกันและกันเพื่อความยั่งยืนได้ต่อไป
Discussion about this post