ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้าทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 27 พ.ศ.2563 มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จากผลงานวิจัย เรื่อง “เทคโนโลยีเพอรอฟสไคต์สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับใช้ในอาคาร” ซึ่งการสร้างองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมจากเพอรอฟสไคต์ (Perovskite) ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำชนิดพิเศษที่นำมาดัดแปลงเพื่อให้สามารถใช้กับพื้นที่ที่มีแสงน้อย หรือภายในอาคาร ทำงานโดยเมื่อมีแสงในอาคารมากระทบแล้วจะทำให้เกิดการแตกตัวของประจุไฟฟ้าตามหลักการของทำงานของเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar cell) ซึ่งใช้พลังงานเพียงเล็กน้อยในระดับไมโครวัตต์ เหมาะสำหรับเซ็นเซอร์ (Sensors) หรืออุปกรณ์ตรวจจับชนิดต่างๆ ในโรงงาน หรือบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) โดยจะทำให้เซ็นเซอร์สามารถทำงานได้สอดคล้องกับการทำงานของมนุษย์ หรือผู้ใช้ (User) ซึ่งจะทำงานเฉพาะเวลาที่มีการเปิดไฟเท่านั้น
ข้อดีของการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ คือ เป็นพลังงานสะอาด และสามารถพัฒนาให้มีอายุการใช้งานที่นานกว่าแบตเตอรี่ ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิต และเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากการสามารถลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อนได้ ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ ได้มีการวางแผนพัฒนางานวิจัยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน การผลิตเป็นนวัตกรรม และการนำไปทดสอบก่อนเข้ากระบวนการผลิตเพื่อใช้จริง ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับสารเคมีองค์ประกอบ และกำลังจะรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นขอจดสิทธิบัตรต่อไป นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นอาจารย์ยังได้ส่งเสริมให้นักศึกษาร่วมพัฒนางานวิจัย จนเมื่อสามารถผลิตเป็นชิ้นงาน และผ่านการทดสอบคุณภาพแล้ว จะผลักดันต่อยอดสู่การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา ตามแนวคิดของมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ Entrepreneurial University เพื่อการมุ่งสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลกต่อไปอีกด้วย
ติดตามข่าวที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
Discussion about this post