หลายปีมานี้คนไทยต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยขนาดของฝุ่นที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน ฝุ่น PM 2.5 จึงปะปนไปกับอากาศที่หายใจเข้าสู่ปอด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ เช่น การไอ เจ็บคอ ระคายเคืองผิวหนังและดวงตา เส้นเลือดหัวใจตีบตัน หัวใจวาย อัมพาต นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดอีกด้วย
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศไว้ใช้ในภายในอาคารและที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามเครื่องฟอกอากาศในปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูง ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงได้ ทำให้นักวิจัยได้คิดค้นเครื่องฟอกอากาศจากระบบไฟฟ้าสถิต “Innovative Air Cleaner” ขึ้นมา
เครื่องฟอกอากาศจากระบบไฟฟ้าสถิต “Innovative Air Cleaner” เป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ที่มีราคาเครื่องและค่าบำรุงรักษาย่อมเยาว์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้แก่คนไทย
รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา อธิบายถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาร่วมกับคณะว่า “Innovative Air Cleaner” เป็นเครื่องบำบัดอากาศระบบไฟฟ้าสถิต ที่มีการทำงาน 2 ขั้นตอนหลัก คือ การดักจับฝุ่นขนาด PM10 และ PM2.5 ด้วยระบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic ionizer) แล้วจึงฆ่าทั้งแบคทีเรียและไวรัสที่ลอยอยู่ในอากาศด้วยระบบนอนเทอร์มอลพลาสมา (Non-thermal plasma) ก่อนจะปล่อยอากาศสะอาดคืนสู่ภายนอก โดยเทคโนโลยีนี้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพตามมาตรฐาน ASNI/AHAM AC-1-2002 และ JIS Z 2801:2000 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รศ.ดร.พานิช กล่าวว่า “ประสิทธิภาพของเครื่องนี้เทียบเท่าเครื่องกรองที่มีการจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด คือ สามารถกำจัดฝุ่นออกจากอากาศได้มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 99 และสามารถกำจัดแบคทีเรีย ไวรัส รวมถึงกลิ่นได้ ด้วยเทคโนโลยีการกำจัดแบบไฟฟ้าสถิตช่วยลดจำนวนขยะแผ่นกรองที่จะต้องเปลี่ยนเป็นประจำทุกปี อีกทั้งยังสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย ราคาของเครื่อง Innovative Air Cleaner สำหรับบำบัดอากาศในพื้นที่ 50 ตารางเมตร อยู่ที่ 20,000 บาท และมีค่าบำรุงรักษาในการใช้งาน 5 ปี ประมาณ 500 บาท หรือมีราคาที่ใกล้เคียงกับเครื่องกรองอากาศแบบแผ่นกรอง แต่มีค่าบำรุงรักษาถูกกว่าถึง 100 เท่า หากเปรียบเทียบกับเครื่องกรองอากาศระบบไฟฟ้าสถิตทั่วไปที่มีราคาสูงถึงประมาณ 50,000 บาท และมีค่าบำรุงรักษาประมาณ 5,000 บาท ถือว่ามีราคาค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ามาก”
นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังเปิดรับผู้สนใจให้ร่วมลงทุนในการผลิต ผู้ประกอบการคนใดสนใจสามารถติดต่อได้ที่ หน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือทางอีเมล panich.intra@rmutl.ac.th (รศ.ดร.พานิชอินต๊ะ – นักวิจัย)
ที่มา : thaipost.net
Discussion about this post