หลายคนใช้ชีวิตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์จนลืมไปว่าผ่านไปแล้วนานเท่าใด จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปีที่กระดูกสันหลังต้องอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุลเป็นเวลานาน สะสมจนร่างกายส่งสัญญาณแห่งความเจ็บปวดจนเกินต้านทานในที่สุด
รองศาสตราจารย์ ดร. กภ.พีร์มงคล วัฒนานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชากายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาผลงานนวัตกรรมที่ได้ร่วมสร้างสรรค์และพัฒนากับนักศึกษาของคณะกายภาพบำบัด เรื่อง “เครื่องตรวจวัดการทรงท่าและการเคลื่อนไหวสำหรับผู้ที่มีปัญหาปวดหลัง” ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร กล่าวเตือนผู้ที่อยู่ในวัยทำงานไม่ให้ปล่อยปละละเลยเรื่องการดูแลตัวเองในเรื่องสุขภาพของ “กระดูกสันหลัง” ซึ่งเปรียบเหมือน “เสาหลักของร่างกาย” หากใช้งานอวัยวะดังกล่าวอย่างไม่ทะนุถนอมอาจเสื่อมถอยก่อนวัยอันควร ไม่แข็งแรงดังเดิม และส่งสัญญาณแห่งความเจ็บปวด จนเป็นเหตุให้ประเทศต้องสูญเสียงบประมาณปีละเป็นจำนวนมหาศาลในการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าวได้
จากการคิดค้นนวัตกรรม “เครื่องตรวจวัดการทรงท่าและการเคลื่อนไหวสำหรับผู้ที่มีปัญหาปวดหลัง” ที่ประดิษฐ์ขึ้นจากอุปกรณ์อย่างง่าย ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในราคาไม่กี่พันบาท โดยใช้เซนเซอร์ประกอบกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้โปรแกรม “Lab View” ที่ใช้แสดงผลในห้องปฏิบัติการ กับผู้เข้ารับการทดสอบในวัยทำงาน กลุ่มอายุไม่เกิน 40 ปี เพื่อเปรียบเทียบผลทดสอบการทรงท่าระหว่างผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง และผู้เข้ารับการทดสอบที่มีอาการปกติ
หลักการทำงานของนวัตกรรม “เครื่องตรวจวัดการทรงท่าและการเคลื่อนไหวสำหรับผู้ที่มีปัญหาปวดหลัง” ซึ่งใช้ในทางคลินิก ทำงานโดยใช้เซนเซอร์ตรวจจับความเร็วในการเคลื่อนไหวติดไว้ที่บริเวณ “กระดูกสันหลัง” และ “กระเบนเหน็บ” หรือส่วนหลังของร่างกายระดับบั้นเอวของผู้เข้ารับการทดสอบ แล้วให้ลองยกแขน นั่งลง และยืน เพื่อดูผลทดสอบจากจอมอนิเตอร์ ที่แสดงความสมดุลของการทรงท่า บันทึกและรายงานผลโดยนักกายภาพบำบัด เพื่อใช้วินิจฉัยประกอบการบำบัดรักษา และแนะนำท่าออกกำลังกายเพื่อการทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร. กภ.พีร์มงคล วัฒนานนท์ อธิบายว่า “การทรงท่า” คือการยืน หรือนั่งอยู่ในท่าที่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และประสาททำงานประสานกัน พบว่าการยืนปกติโดยใช้ข้อเท้าเป็นหลักในการทรงท่า จะทำให้ไม่ล้มง่าย และปวดหลัง นอกจากนี้ หากลงน้ำหนักที่ข้อสะโพกด้วย จะทำให้การทรงท่าเกิดความสมดุล มีจำนวนไม่น้อยของผู้ป่วยในวัยทำงานเข้ารับการบำบัดด้วยอาการปวดหลัง ด้วยสาเหตุ “หมอนรองกระดูกเสื่อม” เกิดจากการนั่งไม่ถูกท่าเป็นเวลานาน จนเกิด “แรงเฉือน” เนื่องจากกระดูกสันหลังเรียงตัวผิดปกติจนเกิดอาการอักเสบ ซึ่งระดับของความปวดที่เกิดขึ้น จะเป็นไปตามอาการที่สะสมจากการทรงท่าที่ผิดวิธีนั้นๆ ต่างจากอาการปวดหลังในผู้สูงวัยที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกสันหลังตามกาลเวลา
และยังได้แนะนำวิธีง่ายๆ สำหรับใช้ในการผ่อนคลายไม่ให้เกิด “ออฟฟิศซินโดรม” สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน โดยไม่ลืมที่จะเปลี่ยนอิริยาบถทุกครึ่งชั่วโมง ยืดเหยียดแผ่นหลังในท่านั่ง โดยการก้มลงขณะอยู่บนเก้าอี้ทำงาน เหยียดแขนทั้งสองข้างไปข้างหน้า แล้วเอามือแตะพื้น หรือยืดเหยียดในท่ายืนโดยการยืนชิดผนังและออกแรงดันให้แผ่นหลังแนบไปกับผนังให้ได้มากที่สุด
ในอนาคตทีมวิจัยเตรียมพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม “เครื่องตรวจวัดการทรงท่าและการเคลื่อนไหวสำหรับผู้ที่มีปัญหาปวดหลัง” จากการใช้เฉพาะในคลินิก สู่รูปแบบที่สามารถพกพาและเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน เพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ดูแลตัวเองที่บ้านได้ และจะผลักดันให้การตรวจวัดการทรงท่าและการเคลื่อนไหวอยู่ในรายการตรวจร่างกายประจำปี เพื่อประชาชนชาวไทยทุกคนจะได้ห่างไกลปัญหาปวดหลังจากภาวะ “เนือยนิ่ง” ที่จะก่อให้เกิดความเจ็บป่วย จนต้องกลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งอาจต้องใช้เวลายาวนานกว่ากระดูกสันหลังจะกลับมาทำหน้าที่ “เสาหลักของร่างกาย” ได้ดีดังเดิม
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th
Discussion about this post