Thailand Tech Show เป็นงานที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เวทีนำเสนอผลงานวิจัยพร้อมใช้จาก สวทช. และพันธมิตรหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาจากทุกภาคของประเทศ ในรูปแบบตลาดเทคโนโลยี ผู้ซื้อพบผู้ขายเพื่อสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยี และ Tech Startup รวมทั้งเป็นเวทีเชื่อมโยงการลงทุนในรูปแบบใหม่ และแหล่งทุนที่เหมาะสม สำหรับเป็นกลไกในการเร่งสร้างนวัตกรรม และต่อยอดให้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้นในวงกว้าง
สำหรับงาน Thailand Tech Show 2022 มีการจัดงานร่วมกับ APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz ภายใต้แนวคิด ผสานพลังวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน (Synergizing STI to Sustainable Business) ซึ่งภายในงานนอกจากแสดงผลงานทางวิชาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมวิจัยที่พร้อมต่อยอดธุรกิจจำนวนมากแล้ว ปีนี้ยังมีกิจกรรมการมอบ “กิตติกรรมประกาศความสําเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยี” ให้แก่ผลงานวิจัย สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร จำนวน 7 ผลงาน ซึ่งเข้าร่วมจัดแสดงผลงานในงาน Thailand Tech Show ในปีที่ผ่านมา (ปี 2019-2020) และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปผลิตเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ส่วนจะเป็นผลงานวิจัยเรื่องใดบ้างนั้นมาติดตามกัน
1. ยางธรรมชาติดัดแปร
การใช้งานยางพาราในอุตสาหกรรมต่างๆ ยังมีปัญหาเรื่องของสมบัติของยางธรรมชาติที่มีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ไม่ทนสารอินทรีย์ กลิ่นแรง สีเข้ม ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ท่อหรือสายยางลำเลียงสารเคมี ผลิตภัณฑ์ที่เน้นสีสัน เช่น ผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็ก อีกทั้งยังเข้ากับซิลิกาได้ไม่ดีทำให้ต้องใช้สารควบคู่ร่วมด้วยทุกครั้ง รศ.ดร.เพลินพิศ บูชาธรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนา ‘กรรมวิธีการปรับคุณสมบัติน้ำยางธรรมชาติ’ ให้ทนต่อสารละลายอินทรีย์ มีสีจาง ไม่มีกลิ่นแรง และมีลักษณะเป็นผง สามารถเข้ากับสารตัวเติมเสริมแรงต่างๆ เช่น ซิลิกา และกราฟีนออกไซด์ได้ดี โดยไม่ต้องใช้สารควบคู่ ไม่เกิดเชื้อราเมื่อจัดเก็บระยะเวลานานเท่ากับยางธรรมชาติทั่วๆ ไป ปัจจุบัน บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
2. ชิ้นงานเชื่อมสำหรับการตรวจสอบด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
เทคโนโลยีการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย (Non–Destructive Testing) หรือการทดสอบความสมบูรณ์ของแนวเชื่อม โดยไม่ทำลายแนวเชื่อมนั้น ด้วยหลักการของสมบัติทางฟิสิกส์ เช่น รังสี หรือ คลื่นเสียงความถี่สูงได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ภาชนะรับแรงดัน แต่ยังเป็นเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง นายสมศักดิ์ ปามึก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้วิจัยและออกแบบสร้าง “ชิ้นงานเชื่อมสำหรับตรวจสอบด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง” เป็นการสร้างจุดบกพร่องแบบขาดการหลอมละลายด้านข้างระหว่างขอบของรอยต่อชิ้นงานกับเนื้อเชื่อม (Lack of Fusion) ด้วยการเชื่อมทับแผ่นเหล็กขนาดเล็กทับลงบนตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อให้เกิดชั้นอากาศด้านในรอยต่อแล้วเชื่อมทับด้วยการเชื่อมทิกและทำการเจียรไนเรียบ เมื่อนำไปตรวจสอบด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ด้วยหัวตรวจสอบแบบมุมพบว่าให้สัญญาณสะท้อนสูงและไม่มีสัญญาณอื่นแทรกซ้อน และมีคุณภาพใกล้เคียงกับชิ้นงานที่นำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบัน บริษัท มิตรเจริญเคเบิลเวอร์คส์ จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
3. ระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์
“ระบบไบโอรีแอคเตอร์จมชั่วคราว” เป็นนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแบบใหม่ พัฒนาขึ้นโดย รศ. ดร.พูนพัฒน์ พูนน้อย และ รศ. ดร.นพมณี โทปุญญานนท์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยหลักการของระบบคือการเลี้ยงต้นไม้ในอาหารแข็งสังเคราะห์ ที่มีฮอร์โมนพืชช่วยในการเพิ่มปริมาณต้น เป็นระบบการขยายพันธุ์พืชแบบใหม่ แทนที่ระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชแบบเดิม (อาหารแข็ง) วิธีนี้สามารถนำมาใช้พัฒนาการผลิตต้นพืชในระดับอุตสาหกรรม เพราะผลิตต้นพืชได้จำนวนมาก อัตราการรอดสูง ปลอดโรคและไม่กลายพันธุ์ ปัจจุบัน บริษัท แอดวานซ์ อะกรี-เทค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
4. ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกลอกลายแบบ 3 มิติ (สำหรับงานพิสูจน์หลักฐาน)
งานด้านการพิสูจน์หลักฐานมีความสำคัญอย่างมากในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม แต่เทคนิคการตรวจพิสูจน์หลักฐานที่ใช้อยู่ยังเป็นการถ่ายภาพ การลอกรอยด้วยการปัดผงฝุ่นเพื่อลอกรอยนิ้วมือแฝง ซึ่งได้ผลเป็นภาพ 2 มิติ ที่มีข้อจำกัดในการตรวจพิสูจน์ ขณะเดียวกันวิธีการหล่อปูนพลาสเตอร์เป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างภาพวัตถุพยานแบบ 3 มิติ แต่ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน แม้ปัจจุบันเริ่มมีการใช้ยางซิลิโคนในการลอกลาย ก็ยังต้องใช้เวลาขึ้นรูปนานและมีราคาแพงดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี และคณะวิจัย จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 9พัฒนา “ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกลอกลายแบบ 3 มิติ” มีลักษณะการใช้งานคล้ายยางกึ่งสำเร็จรูป เมื่อใช้น้ำร้อนยางจะนิ่มและแข็งขึ้นเมื่อเย็นลง ทำให้ปั้นได้ด้วยมือและลอกลายตามพื้นผิวต่างๆ ได้ ปัจจุบัน บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
5. ตัวนำส่ง ‘สารสกัดถั่งเช่า’ เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึม
ด้วยสมบัติของสารสกัดถั่งเช่าไม่ว่าจะเป็นการละลายน้ำยาก ดูดซึมได้น้อย และต้องใช้สารปริมาณมากจึงจะได้ประสิทธิภาพสูง เป็นโจทย์ท้าทายในการพัฒนาสารสกัดถั่งเช่าสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดร.คทาวุธ นามดี และทีมวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ได้พัฒนา “ตัวนำส่งสารคอร์ไดซิปิน หรือสารสกัดถั่งเช่า” โดยสังเคราะห์เป็นไมโครเอนแคปซูเลชันที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บสารสกัดถั่งเช่า และมีความคงทนเมื่ออยู่ในสภาวะกรดหรือมีสภาวะเสมือนในกระเพาะอาหาร และสามารถปลดปล่อยไลโปโซมที่เก็บกักสารสกัดถั่งเช่าเมื่อค่า pH (ความเป็นกรด-ด่าง) เพิ่มขึ้นหรือมีสภาวะเสมือนในลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการนำส่งสารออกฤทธิ์ไปยังเป้าหมาย ทั้งนี้ปกติสารสกัดถั่งเช่าจะถูกดูดซึมได้น้อยเพียง 5-10% แต่เมื่อนำนาโนเทคโนโลยีมาช่วยกักเก็บอนุภาค สามารถเพิ่มศักยภาพการดูดซึมได้ถึง 30-40% ปัจจุบัน บริษัท ไฮบาลานซ์ จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
6. อนุภาคนาโนเพื่อการนำส่งบัวบก มังคุด กานพลูสำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอาง
ทราบกันดีว่าสารสกัดบัวบก สารสกัดเปลือกมังคุด และน้ำมันกานพลู เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติโดดเด่นทั้งทางชีวภาพและทางเภสัชศาสตร์ คือการลดรอยดำ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ รวมถึงการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ในกลุ่มของ Staphylococcus aureus และ Propionibacterium acnes ซึ่งเป็นสาเหตุก่อให้เกิดสิว ดร.สุวิมล สุรัสโม และทีมวิจัย จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.พัฒนาอนุภาคนาโนที่กักเก็บสารออกฤทธิ์บัวบก มังคุด กานพลู โดยอนุภาคสามารถกักเก็บสารสำคัญได้หลากหลายรูปแบบ และมีความคงตัวดี นำไปขึ้นรูปเป็นสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ เหมาะสำหรับการประยุกต์ใช้ในการเตรียมสูตรเภสัชภัณฑ์ใช้ภายนอกร่างกาย ปัจจุบัน บริษัท สมาร์ค เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
7. Minimal Lab เทคโนโลยีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ
การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ นับเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดร.ศุภนิจ พรธีระภัทร และนายสันติ รัตนวารินทร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. พัฒนา “Minimal Lab” ระบบเฝ้าระวังและติดตามการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้เทคโนโลยีแสงในการตรวจสอบ Growth Curve และใช้ IoT ในการสื่อสารกับผู้ใช้งาน ระบบจะบันทึกข้อมูลการเติบโตของแบคทีเรียลงในฐานข้อมูลแบบอัตโนมัติ ผู้ใช้สามารถเรียกดูข้อมูลแบบ Real-time ได้จากสมาร์ตโฟนหรือส่งให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งผู้ใช้งานยังปรับเปลี่ยนการทำงานของเครื่องโดยการสั่งผ่านสมาร์ตโฟนได้ เครื่อง Minimal Lab นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ การตรวจเชื้อปนเปื้อนในอุตสาหกรรมอาหาร หรือตรวจติดตามภาวะดื้อยาในอุตสาหกรรมยา ปัจจุบัน บริษัท วินัยเอ็นจิเนียริ่ง อินดัสตรี (1997) จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
Discussion about this post