กทม. ผนวกเทคโนโลยีและนวัตกรรม ชู 3 หลักชาญฉลาด สุขภาวะ หน้าที่พลเมือง และธรรมาภิบาล ยกระดับวิถีชีวิตคุณภาพคนกรุงเทพฯ สู่สมาร์ทซิตี้ เมืองน่าอยู่ ทุกคนเป็นเจ้าของ คำนึงถึงความเท่าเทียม ไม่ลิดรอนสิทธิ์และไม่ทิ้งใคร พร้อมหนุนงาน Thailand Smart City Expo 2022
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ ได้สนับสนุนการจัดงาน Thailand Smart City Expo 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.- 2 ธ.ค. 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมองว่าจะเป็นเวทีสำคัญที่จะนำเสนอข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาการเป็นเมืองอัจฉริยะของกรุงเทพฯ เพื่อมุ่งเน้นการตอบสนองรูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ บนพื้นฐานความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งทีมผู้บริหารกรุงเทพฯ และคนในพื้นที่กำลังแสวงหาแนวทางอยู่ ดังนั้นการเข้าร่วมงานนี้อาจนำไปสู่คำตอบและความเป็นไปได้ใหม่ของทิศทางการพัฒนาเมืองและยกระดับกรุงเทพฯ สู่ Smart City
“Thailand Smart City Expo 2022 จะทำให้เราเห็นว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเป็นเมืองอัจฉริยะคืออะไร จะสร้างและมีแนวทางเป็นอย่างไร เพราะนอกจากจะจัดแสดงสินค้าทางด้านเทคโนโลยีที่หลากหลายแล้ว ยังมีเวทีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีผู้เชี่ยวชาญคอยอธิบายข้อมูลที่เคยใช้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหามาแล้ว และได้ผลอย่างไร เป็นวิธีเรียนลัดที่ดีมากๆ สำหรับผู้บริหารที่ต้องการพัฒนาเมืองของตนเอง รวมถึงได้พบกับผู้ผลิตสินค้าที่สามารถนำไปตอบโจทย์เมืองด้วย และหลังจากจบงานแล้วผู้พัฒนาสินค้าเทคโนโลยีและผู้พัฒนาเมืองก็สามารถต่อยอดความร่วมมือใหม่ๆ ร่วมกันได้ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่”
ปัจจุบัน กรุงเทพฯ ได้เร่งดำเนินนโยบายการพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ใน 3 ด้านหลักสำคัญคือ ความชาญฉลาดทางด้านสุขภาวะ (Smart Well-being) ความฉลาดในหน้าที่พลเมือง (Smart Citizen) และความฉลาดทางด้านการบริหารธรรมาภิบาล (Smart Government) เพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลัก คือการพัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่ น่าใช้ชีวิต พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองไปสู่วิถีชีวิตอัจฉริยะด้วยการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาดและมีความสุขตรงกับวิถีชีวิต รวมถึงมีความเท่าเทียมกันของคนเมืองทุกกลุ่ม ไม่ลิดรอนสิทธิ์และทิ้งกลุ่มคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
ทั้งนี้ในด้านความฉลาดทางด้านสุขภาวะ (Smart Well-being) ล่าสุดกรุงเทพฯ ได้นำเทคโนโลยีหลายรูปแบบมาอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน เช่น การนำระบบโทรเวชกรรม หรือ Telemedicine มาช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถปรึกษาอาการได้ทันทีผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล หรือสาธารณะสุข สามารถรับยาจากร้านขายยา หรือสาธารณะสุขใกล้บ้าน หรือการจัดส่งยาผ่านระบบขนส่งต่างๆได้อย่างสะดวก
การดูแลสุขภาพของกลุ่มคนเปราะบางหรือพิการ สามารถอนุมัติบัตรรับรองสิทธิ์การรักษาพยาบาลได้ทันที ณ โรงพยาบาลในรูปแบบ One stop service จากเดิมต้องเดินทางไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งต้องประสานงานกับอีกหลายหน่วยงาน หรือการขอรับเบี้ยยังชีพคนพิการสามารถรับโอนเงินจากแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ได้ทันที นอกจากนั้นกรุงเทพฯ ยังเร่งผลักดันโครงการสวนสาธารณะ 15 นาทีหรือสวนละแวกบ้านระยะทางการเข้าถึงไม่เกิน 800 เมตรในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ เพื่อการสันทนาการ การออกกำลัง สร้างความแข็งแรงต่อร่างกายลดอาการเจ็บป่วย และสร้างพื้นที่สีเขียว พื้นที่ซับน้ำเมื่อเกิดภัยน้ำท่วม และการช่วยลดฝุ่นละออง ซึ่งเท่ากับการสร้างความฉลาดทางด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) อีกทางหนึ่งด้วย และนำไปสู่ความอัจฉริยะในวิถีชีวิตของประชาชน (Smart Living)
ความฉลาดในหน้าที่พลเมือง (Smart Citizen) ซึ่งจะทำงานควบคู่กับความฉลาดทางด้านการบริหารธรรมาภิบาล (Smart Government) โดยเป็นโครงการที่ใหญ่และสำคัญของกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับประชากรในพื้นที่เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการกรุงเทพฯ การอภิบาลเมืองในฐานะเจ้าของพื้นที่ โดยกรุงเทพฯได้มีการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณประจำปี โครงการที่จะจัดทำ เพื่อให้ประชาชนทราบว่ากรุงเทพฯ จะเกิดอะไรขึ้นและทำในเขตใด โครงการเป็นประโยชน์และมีความสมเหตุสมผลต่อการใช้งบประมาณหรือไม่ รวมทั้งเฝ้าติดตามรายงานความคืบหน้าของโครงการ การแจ้งปัญหา การแสดงความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูลด้านต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนลำดับชั้นการรับเรื่อง
“การมีส่วนร่วมในระดับประชาชนมีส่วนสำคัญมาก นี้คือหัวใจของการบริหารเมือง คือเมื่อประชาชนเห็นสิ่งที่ตัวเองช่วยทำมามีความรู้สึกเป็นเจ้าของ นี้คือการใช้ชีวิตแบบ Smart คนเมืองเห็นปัญหาเมือง บอกเมือง เมืองแก้ไข ประชาชนติดตามการแก้ไขจริงไหม อันนี้คือสุดยอดปรารถนาของทีมผู้บริหารกรุงเทพฯ”
รศ.ทวิดา กล่าวว่า การยกระดับกรุงเทพฯ เป็นเมืองอัจฉริยะในนิยามของทีมผู้บริหาร อาจไม่ได้หมายถึงการพัฒนาเมืองด้วยระบบเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทันสมัยเพียงด้านเดียว แต่เป็นการนำทั้ง 2 ระบบมาใช้เพื่อเอื้ออำนวยต่อการเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องยึดหลักสิทธิของประชาชนในพื้นที่ใน 3 ด้านหลักสำคัญคือ สิทธิของการเป็นคนมีสุขภาพดี สิทธิของการได้รับการรักษาอาการเจ็บป่วย และสิทธิของการได้อาศัยอยู่ในเมืองอย่างมีความสุขและปลอดภัย เป็นสำคัญ
“ทุกโครงการของกรุงเทพฯ มันคือความ Smart ทั้งหมด ซึ่งผู้ว่ากรุงเทพฯ ย้ำตลอดว่า Smart City ของคนกรุงเทพฯ คือการทำอย่างไรก็ได้ ให้คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือคนที่มาใช้ในพื้นที่ รู้สึกว่าเมืองมันน่าอยู่ ไม่ใช่มองเฉพาะเรื่องการมีเทคโนโลยีในแง่ของทุกอย่างต้องทันสมัย หรือแสงสีอย่างเดียว คุณภาพชีวิตก็ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะฉะนั้นถ้าให้นิยามคำว่าเมืองอัจฉริยะของพวกเราก็คือ เมืองที่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเมืองน่าอยู่ และมีความสุขในการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่เราพยามร้อยเรียงเพื่อทำเป็นนโยบายสำหรับบริหารกรุงเทพฯ”
ทั้งนี้ ปัจจัยสู่ความสำเร็จต่อการยกระดับกรุงเทพฯ Smart City นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน ภาคประชาสังคมซึ่งเป็นฝ่ายที่สำคัญมาก เพราะมีพลังต่อการผลักดัน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นผู้รับบริการ แต่ยังเป็นผู้สร้างข้อมูลความต้องการจริง รวมทั้งเป็นผู้ตรวจสอบ เพื่อให้การพัฒนากรุงเทพฯ ไปสู่เมืองอัจฉริยะอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชนจริงๆ นอกจากนั้นยังต้องขจัดอุปสรรคที่เกิดจากกฎระเบียบต่างๆ ออกไปด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมงาน Thailand Smart City Expo 2022 ได้ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.–2 ธ.ค. 65 ณ ฮอลล์ 3-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยสามารถลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ thailandsmartcityexpo
Discussion about this post