“บรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อ” หรือบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มยูเอชที โดยส่วนใหญ่จะใช้บรรจุนม หรือเครื่องดื่ม เพื่อที่จะสามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิห้อง เรียกบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้โดยทั่วไปว่ากล่อง UHT เป็นกล่องบรรจุอาหารที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อซึ่งให้ความร้อนสูงเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-2 วินาที ที่อุณหภูมิ 135 องศาเซลเซียส หรือที่เรียกว่า Uttra High-Temperature processing หรือ Utra-Heat Treatment ทำให้สามารถเก็บรักษาอาหารไว้ได้นาน 6-9 เดือน
ปัจจุบันมีการนำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มยูเอชทีมาใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารอย่างหลากหลาย เช่น เครื่องดื่มประเภทนม เครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอส์ ได้แก่ น้ำผลไม้ น้ำชา เป็นต้น เครื่องปรุงสำเร็จรูป ได้แก่ กะทิ แกงกะทิปรุงรส เป็นต้น โดยปริมาณการบรรจุ เครื่องดื่มประเภทนมจะมีปริมาณการใช้มากที่สุด เนื่องจากความต้องการบริโภคเครื่องดื่มประเภทนมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.62 ต่อปี
จากความต้องการบริโภคนมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นนั้นแสดงให้เห็นว่า ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดปริมาณขยะที่มีกระดาษ พลาสติกพอลิเอททีลีน และอะลูมิเนียมฟอยล์ เพิ่มมากขึ้น โดยการกำจัดบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ในธรรมชาติเกิดการย่อยสลายได้ยากและมีอันตราย เนื่องจากมีอะลูมิเนียมฟอยส์ผสมอยู่ และเป็นปัญหาในการนำไปเผาเพื่อกำจัดขยะ ทำให้ไม่สามารถกำจัดขยะเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ส่วนใหญ่บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้มีกระดาษ พลาสติกพอลิเอททีสีน และอะลูมิเนียมฟอยล์เป็นส่วนประกอบ โดยมีร้อยละ 75, 20 และ 5 ตามลำดับ จึงมีการนำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มยูเอชทีไปรึไซเคิล ซึ่งเป็นเพียงการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น หลังคาเขียว เสื่อรองนั่ง กันสาด ตะกร้า เป็นต้น เพื่อยืดระยะเวลาในการกำจัดออกไป ซึ่งสุดท้ายของเสียเหล่านี้ยังคงประกอบไปด้วยกระดาษ พลาสติกพอลิเอทิลีนและอะลูมิเนียมฟอยล์ ที่ยากต่อการกำจัดเช่นเดิม
ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (ศนย.) จึงได้พัฒนา “กระบวนการแยกกระดาษพลาสติกพอลิเอทิลีนออกจากอะลูมิเนียมฟอยล์” ขึ้นสำเร็จ โดยใช้ตัวทำละลายกรดอินทรีย์ ซึ่ง วว. ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรกระบวนการแยกและตีพิมพ์บทความทางวิชาการเผยแพร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กระบวนการแยกกระดาษพลาสติกพอลิเอทิลีนออกจากอะลูมิเนียมฟอยล์ ที่ วว. พัฒนาขึ้น มีจุดเด่นคือ เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อมและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนตัวทำละลายกรดอินทรีย์ที่ใช้ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการ สามารถหาได้ง่าย ราคาถูก และสภาวะที่ใช้ในการแยก ไม่มีความดัน ใช้อุณหภูมิที่ 60 องศาเซลเซียส เท่านั้น
ทั้งนี้หากคิดมูลค่าจากการนำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มยูเอชที 1,300 ตัน มาแยกส่วนประกอบ จะได้กระดาษ 975 ตัน คิดเป็น พลาสติกพอลิเอทีลีน 260 ตัน และอะลูมิเนียมฟอยล์ 65 ตัน หากสามารถแยกส่วนประกอบได้และนำกลับมาได้ที่ร้อยละ 80 จะเหลือเยื่อกระดาษ 780 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9.36 ล้านบาท และได้พลาสติกพอลิเอทิลีน 208 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.04 ล้านบาท ได้อะลูมิเนียมฟอยล์ 52 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.04 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจะได้มูลค่าจากการแยกบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มยูเอชทีปริมาณ 1,300 ตันเป็นเงิน 11.44 ล้านบาท โดยราคาขายเศษวัสดุ ณ ปัจจุบัน รับซื้อเยื่อกระดาษในราคา 12 บาทต่อกิโลกรัม แผ่นพลาสติกพอลิเอทิสีน 5 บาทต่อกิโลกรัม เศษอะลูมิเนียม 20 บาทต่อกิโลกรัม
“หากนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปแปรรูปจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น โดยเยื่อกระดาษนำไปฟอกขาวจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 40 บาทต่อกิโลกรัม พลาสติกพอลิเอทิลีนเมื่อนำไปหลอมและขึ้นรูปเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล สามารถจำหน่ายเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้ที่ 32 บาทต่อกิโลกรัม และเศษอะลูมิเนียมนำไปหลอมและอัดเป็นแท่งอะลูมิเนียมได้ สามารถจำหน่ายได้สูงถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นหากนำไปประเมินที่ศักยภาพการนำกลับมาผลิตใหม่ได้ที่ร้อยละ 80 จะเหลือเยื่อกระดาษ 624 ตัน คิดเป็นมูลค่า 24.96 ล้านบาท พลาสติกพอลิเอทิลีน 166.4 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5.32 ล้านบาท และอะลูมิเนียมฟอยล์ 41 ตัน คิดเป็นมูลค่า 8.2 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 38.42 ล้านบาท ที่ได้จากการนำไปจำหน่าย” ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดังนั้นกล่องนม 1,300 ตัน หากนำมาแยกส่วนประกอบทั้งหมดและแปรรูปเข้าสู่ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมใหม่จะสร้างมูลค่าทั้งหมดได้ 46.61 ล้านบาท (1 1.44 ล้านบาท จากการแยก+38.42 ล้านบาท จากการแปรรูป -3.25 ล้านบาท จากต้นทุนกล่องนม) หากรับซื้อกล่องนมในราคา 2.5 บาทต่อกิโลกรัม จากการประเมินมูลค่าดังกล่าว จะเห็นได้ชัดว่าการแยกพลาสติกพอลิเอทิลีน และอะลูมิเนียมฟอยล์ออกจากบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มยูเอซที สามารถเพิ่มมูลค่าบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มยูเอชทีได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีความเป็นไปได้ในทางเศรษฐศาสตร์ และยังสอดคล้องกับแนวความคิด BCG Model ในการนำขยะที่ไม่มีมูลค่ากลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ได้
“ประโยชน์ของการนำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มยูเอชทีมารีไซเคิลนั้น สามารถช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งสามารถช่วยลดพื้นที่ฝังกลบและอนุรักษ์พื้นที่ป่าได้มากขึ้น หรือลดการตัดไม้ได้ โดยบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มยูเอซที 1,300 ตัน สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 1,170 ตัน ประหยัดพื้นที่ฝังกลบได้ 5,200 ตรม. และสามารถอนุรักษ์พื้นที่ป่าได้ 0.195 ตร.กม.” ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป
Discussion about this post