270 นาที (4 ชั่วโมง 30 นาที) นับตั้งแต่ที่ผู้ป่วยมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาด้านใดด้านหนึ่งอ่อนแรง จนถึงมือแพทย์และได้รับการฉีดยาสลายลิ่มเลือด คือ “นาทีทอง” ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเพื่อลดโอกาสพิการและเสียชีวิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้จัดการโครงการฝ่ายวิศวกรรมประจำโครงการ “Mobile Stroke Unit มหาวิทยาลัยมหิดล” ซึ่งดำเนินการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาแล้วโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า ที่ผ่านมายังมีผู้ป่วยหลายรายต้องกลายเป็น “ผู้พิการ” หรือ “เสียชีวิต” ด้วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (Stroke)
“เป็นที่น่าเสียดายสำหรับผู้ป่วยอีกหลายรายที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาภายใน 270 นาที เมื่อมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายกระทันหัน ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ถึงโอกาสการเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยหากผู้ป่วยรายนั้นๆ สามารถเข้าถึง “ทีมปฏิบัติการหน่วยรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ของมหาวิทยาลัยมหิดล” จะมีโอกาสลดความเสี่ยงจากความพิการและเสียชีวิตได้”
ซึ่ง “ทีมปฏิบัติการหน่วยรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ของมหาวิทยาลัยมหิดล” เป็นการผนึกกำลังกันของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยงานชั้นนำด้านการแพทย์และวิศวกรรมระดับสากล กับเครือข่ายพันธมิตร เช่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ 1669 และหน่วยงานต่างๆ จากทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2561 จนถึงปัจจุบัน การปฏิบัติการของทีมมีระยะเวลาปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยเฉลี่ยที่ “28 นาที” เมื่อได้รับแจ้งให้ออกปฏิบัติการ ซึ่งเร็วกว่าระยะเวลาเฉลี่ยที่โรงพยาบาลทั่วไปทำได้ คือ 40 – 50 นาทีตามแต่ละพื้นที่ เป็นผลให้สามารถลดโอกาสความพิการและเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้มาก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย ชันยากร กล่าว
นับตั้งแต่เริ่มออกปฏิบัติการครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2561 จนถึงปัจจุบัน หน่วยปฏิบัติการ “Mobile Stroke Unit มหาวิทยาลัยมหิดล” พร้อมออกให้บริการกระจายทั่วทุกภูมิภาคถึง 5 คัน ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดของประเทศไทย ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วกว่า 1,000 ราย และมีแผนเพิ่มพื้นที่ปฏิบัติการเป็น 7 จังหวัดในปีพ.ศ.2566
โดยถือเป็นนวัตกรรมจาก “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยให้ห่างไกลความพิการจากโรคอัมพาตเฉียบพลันได้อย่างแท้จริง
“Mobile Stroke Unit มหาวิทยาลัยมหิดล” ประกอบด้วยรถ Mobile Stroke Unit ระบบสื่อสารการแพทย์ทางไกล ระบบอำนวยการปฏิบัติการ ระบบบริหารสารสนเทศทางการแพทย์ และระบบการฝึกบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบกับ กระบวนการพัฒนา ทดสอบ และควบคุมอย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐาน ทำให้ทีมปฏิบัติการที่มีแพทย์ พยาบาล นักรังสี และตัวผู้ป่วยที่ใช้บริการ มีความเชื่อมั่นถึงสมรรถนะ และศักยภาพของ “Mobile Stroke Unit มหาวิทยาลัยมหิดล” ที่ได้รับการออกแบบ นำเทคโนโลยีทางวิศวกรรมชั้นสูง ควบคู่กับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และระบบการสื่อสารแบบ 5G ที่สามารถปฏิบัติการอย่างมีเสถียรภาพ มาติดตั้งในรถ Mobile Stroke Unit
โดยตัวรถได้รับการรับรองความปลอดภัยทางรังสี ความปลอดภัยด้านการขนส่ง และความปลอดภัยด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้รับการทดสอบทางวิศวกรรมที่สูงกว่ามาตรฐาน เพื่อให้ตัวรถมีความปลอดภัยและพร้อมใช้งานสูงสุดตลอดอายุการใช้งาน
ด้วยระบบปฏิบัติการที่ได้รับการออกแบบร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกตามมาตรฐาน ทำให้การปฏิบัติการ ณ ปัจจุบันใช้เวลาเฉลี่ยที่ 28 นาที ช่วยลดโอกาสพิการจากโรคอัมพาตเฉียบพลันของผู้ป่วยได้
ข้อมูลที่สำคัญของผู้ป่วยสามารถส่งต่อผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบไว้อย่างรวดเร็ว ทีมวิศวกรสามารถอ่านค่าจากระบบ Sensor ต่างๆ จากตัวรถ เพื่อช่วยให้รถมีความพร้อมให้การรักษาฉุกเฉินผ่านระบบการแพทย์ทางไกลได้ทันทีที่มีการเรียกรถ “Mobile Stroke Unit มหาวิทยาลัยมหิดล” ออกปฏิบัติการ โดยปัจจุบันระบบรองรับการออกปฏิบัติการได้พร้อมกันใน 5 พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
แผนงานในอนาคต ทีมวิศวกร ทีมแพทย์ และพยาบาลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนงานออกแบบ Mobile Stroke Unit บนรูปแบบยานพาหนะแบบอื่นๆ เช่น เรือ เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันที่อยู่ตามเกาะ หรือตามลำน้ำ และการออกแบบระบบปฏิบัติการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การนำพลังงานสะอาดจากไฟฟ้า พลังงานจากแสงอาทิตย์ มาใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักของหน่วยปฏิบัติการ การออกแบบระบบการจัดการวัสดุที่ใช้ออกแบบและวัสดุสิ้นเปลืองที่มีความปลอดภัยทางการแพทย์และต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยหวังว่า การปฏิบัติการของ “Mobile Stroke Unit มหาวิทยาลัยมหิดล” จะช่วยให้ปวงชนชาวไทยห่างไกลจากอัมพาตที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันโดยทั่วถึง
สุดท้ายนี้หากท่านมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายกระทันหัน ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ถึงโอกาสการเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ขอให้ท่านมี “สติ” รีบโทรแจ้ง “1669” เพื่อขอรับการช่วยเหลือจากทีม “Mobile Stroke Unit มหาวิทยาลัยมหิดล” ที่พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
Discussion about this post