สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสิงหนคร จ.สงขลา คิดค้น “นวัตกรรมรถส่องจิ๋ม” ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเคลื่อนที่ในชุมชน ให้บริการตรวจเชิงรุกสตรีอายุ 30-60 ปี ที่ไม่มีเวลามารับบริการตรวจคัดกรองที่ รพ.สต.หรือ รพ. นำร่อง 3 ตำบล คือ วัดขนุน ม่วงงาม และหัวเขา เผยผลจากการดำเนินการ 1 ปี ช่วยเพิ่มเข้าถึงการคัดกรอง 12.7% นำมาปรับใช้เพิ่มการเข้าถึงในช่วงโควิด
นางอรพินธ์ เขียวชุม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) ชิงโค อ.สิงหนคร จ.สงขลา นำเสนอผลงานวิชาการประเภทสิ่งประดิษฐ์ “รถส่องจิ๋ม” ภายในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากฐานข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในส่วนของ จ.สงขลาช่วงปี 2559-2561 พบว่า กลุ่มสตรีอายุ 30-60 ปี ใน อ.สิงหนคร คัดกรองมะเร็งปากมดลูกต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ ร้อยละ 80 โดยปี 2559 กลุ่มเป้าหมาย 15,486 คน คัดกรองได้ 2,883 คน คิดเป็นร้อยละ 18.62 ปี 2560 จำนวน 15,040 คน คัดกรองได้ 4,049 คน คิดเป็นร้อยละ 26.92 และปี 2561 จำนวน 14,971 คน คัดกรองได้ 4,992 คน คิดเป็นร้อยละ 33.34 โดยพบว่า ต.วัดขนุน ต.ม่วงงาม และ ต.หัวเขา มีอัตราการคัดกรองอยู่ในระดับต่ำ
“สาเหตุที่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระดับต่ำ จากการสอบถามพบว่า กลุ่มสตรีดังกล่าวส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงาน ทำให้ไม่มีเวลาว่าง ไม่สามารถมาตรวจและไม่สะดวกในการเดินทาง ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สิงหนคร จึงได้คิดค้นนวัตกรรมรถส่องจิ๋มหรือรถน้องจิ๋ม เป็นรถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเคลื่อนที่ในชุมชน โดยปรับปรุงรถกระบะตอนเดียวคันเก่าไม่ได้ใช้งาน นำมาเสริมตู้บนกระบะ ติดตั้งเตียงตรวจ ไฟส่อง ขาหยั่งเคลื่อนที่ และผ้าถุงเพื่อใช้เปลี่ยนระหว่างการตรวจคัดกรอง เพื่อให้บริการตรวจเชิงรุกสตรีอายุ 30-60 ปี ที่ไม่มีเวลามารับบริการตรวจคัดกรองที่ รพ.สต.หรือ รพ. โดยนำร่องดำเนินการในพื้นที่ 3 ตำบล คือ วัดขนุน ม่วงงาม และหัวเขา ตั้งแต่ ม.ค. 2562” นางอรพินธ์ กล่าว
นางอรพินธ์ กล่าวว่า จากการใช้รถส่องจิ๋มเข้าไปบริการเชิงรุกตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในปี 2562 พบว่า สามารถคัดกรองกลุ่มเป้าหมายได้เพิ่มมากขึ้น โดย ต.วัดขนุนจากเดิมปี 2561 กลุ่มเป้าหมาย 1,720 คน คัดกรองได้ 491 คน คิดเป็นร้อยละ 28.55 ปี 2562 เป้าหมาย 1,708 คน คัดกรองได้เพิ่มเป็น 858 คน คิดเป็นร้อยละ 34.25 , ต.ม่วงงาม ปี 2561 เป้าหมาย 2,176 คน คัดกรองได้ 562 คน คิดเป็นร้อยละ 25.83 ปี 2562 เป้าหมาย 2,117 คน คัดกรองได้ 1,267 คน คิดเป็นร้อยละ 59.85 และต.หัวเขา ปี 2561 เป้าหมาย 3,162 คน คัดกรองได้ 949 คน คิดเป็นร้อยละ 30.01 ปี 2562 เป้าหมาย 3,127 คน คัดกรองได้ 1,008 คน คิดเป็นร้อยละ 32.24 ภาพรวมทั้ง 3 ตำบลในปี 2561 สามารถคัดกรองได้ร้อยละ 28.36 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 41.13 ในปี 2562 หรือคัดกรองได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.77 ขณะที่การประเมินความพึงพอใจผู้รับบริการอยู่ในระดับมากถึงร้อยละ 86.67
“ถือเป็นหนึ่งนวัตกรรมที่นำมาใช้แก้ปัญหาการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่ และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ได้นำนวัตกรรมรถส่องจิ๋มมาใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ”นางอรพินธ์ กล่าว
Discussion about this post