น้ำดื่มผสมไฟเบอร์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มวิตามิน หรือกาแฟผสมคอลลาเจน เหล่านี้เป็นอาหารฟังก์ชันที่กำลังมาแรงและมีรูปแบบหลากหลายในตลาดผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ แต่อาหารประเภทนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ทีมีโรคเรื้อรังอย่างผู้ป่วยโรคไต ที่ต้องใส่ใจอาหารที่บริโภคเป็นพิเศษ
“ผู้ป่วยโรคไตที่ต้องได้รับการบำบัดโดยวิธีล้างไตมีความจำเป็นต้องควบคุมสารอาหารหลากหลายชนิด เพื่อให้ชะลอความเสื่อมของไตและภาวะแทรกซ้อนของโรค ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการปฏิบัติตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโภชนาการ โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตจำเป็นต้องได้รับพลังงานและโปรตีนในปริมาณสูง ในขณะเดียวกันก็ต้องจำกัดปริมาณแร่ธาตุหลายชนิดให้เหมาะสมด้วย ดังนั้น อาหารสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องให้พลังงานและโปรตีนสูง แต่มีโซเดียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัสในปริมาณต่ำ” รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล ทรัพย์วโรบล ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีโปรตีนไข่ขาวสูง “Albupro Plus” ที่เป็นได้ทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้บริโภคทั่วไปและผู้ป่วยโรคไต
อาหารฟังก์ชัน และ อาหารทางการแพทย์ แตกต่างอย่างไร
รศ.ดร.สุวิมล อธิบายว่าอาหารฟังก์ชัน คือ อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทั่วไป (basic food) เพียงแต่มีการเพิ่มหรือลดสารอาหารบางอย่างให้เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการบริโภคอาหารนั้นมากขึ้น เช่น นม น้ำเต้าหู้ น้ำผลไม้ โยเกิร์ต รวมถึงน้ำเปล่าที่มีการเติมวิตามิน เกลือแร่ คอลลาเจน โพรไบโอติก หรือสารอาหารต่างๆ อาหารฟังก์ชันนอลเหล่านี้เหมาะกับผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัว
ส่วนอาหารทางการแพทย์เป็นอาหารที่นำมาดัดแปลงด้วยการลด-เพิ่ม สารอาหารบางอย่าง เช่น โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่น้ำตาล ฯลฯ เพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยโรคต่างๆ ตามคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์
ที่มาของการวิจัยผลิตภัณฑ์ Albupro Plus
ผู้ป่วยโรคไตเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารให้เหมาะสมเป็นพิเศษ แต่อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยล้างไตที่มีจำหน่ายในประเทศยังมีค่อนข้างจำกัด และส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีราคาค่อนข้างสูง ผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากที่มีข้อจำกัดทางเศรษฐานะจึงขาดโอกาสที่จะเข้าถึงอาหารทางการแพทย์ที่เหมาะสมได้
“ผู้ป่วยโรคไตที่ต้องล้างไตส่วนใหญ่มักประสบปัญหาภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากทุกครั้งที่มีการล้างไต โปรตีนส่วนหนึ่งจะสูญเสียไปในกระบวนการล้างไต ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้น้อย รวมถึงต้องมีการจำกัดบางชนิดอาหารด้วย สาเหตุทั้งหลายเหล่านี้มีผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ลดลงจึงทำให้มวลกล้ามเนื้อและน้ำหนักตัวของผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ เราจึงอยากช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้”
ในฐานะนักวิจัยทางด้านโภชนาการและการกำหนดอาหาร รศ.ดร.สุวิมล จึงริเริ่มวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Albupro Plus เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคไตให้เข้าถึงอาหารทางการแพทย์ในราคาที่จับต้องได้
Albupro Plus ผลิตภัณฑ์สัญชาติไทย สนับสนุนเกษตรกร
รศ.ดร.สุวิมล กล่าวด้วยความภูมิใจว่า Albupro Plus ไม่เพียงช่วยเหลือผู้ป่วยไตให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เหมาะสมในราคาที่เข้าถึงได้แล้วยังสนับสนุนเกษตรกรไทยด้วย โดยวัตถุดิบหลักของผลิตภัณฑ์เป็นผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศทั้งหมด ได้แก่ คาร์โบไฮเดรตจากมอลโตเด็กทรินซ์จากแป้งมันสำปะหลัง โปรตีนจากไข่ ไขมันจากน้ำมันรำข้าว ซึ่งล้วนเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย
“เราตั้งใจที่จะช่วยเกษตรกรไทย จึงเลือกใช้วัตถุดิบหลักทุกชนิดจากผลิตผลทางการเกษตรในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายหลักของทีมวิจัย ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราเริ่มการวิจัยตั้งแต่การกำหนดชนิดและปริมาณสารอาหารเพื่อให้เหมาะกับสภาวะของโรค ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีสารอาหารครบถ้วน เพีงพอ เหมาะสม และมีราคาที่ผู้ป่วยเข้าถึงได้” รศ.ดร.สุวิมล กล่าว
Albupro Plus ใครๆ ก็กินได้
แม้จุดเริ่มต้นการวิจัยจะมุ่งดูแลภาวะโภชนาการให้ผู้ป่วยโรคไต แต่ Albupro Plus ก็เป็นอาหารฟังก์ชันที่ผู้บริโภคทั่วไปกินได้เพื่อบำรุงสุขภาพ
“เราพัฒนา Albupro Plus ให้เป็นทั้งอาหารฟังก์ชันและอาหารทางการแพทย์ โดยผู้ที่สุขภาพดี หรือผู้ป่วยโรคไตก็สามารถรับประทานผลิตภัณฑ์นี้ได้ นอกจากโปรตีนสูงแล้ว ยังมีสารอาหาร เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยสามารถใช้ทดแทนมื้ออาหารได้เลย”
รศ.ดร.สุวิมล เผยว่าปัจจุบันผลิตภัณฑ์ Albupro Plus มี 2 สูตร คือ สูตรสำหรับชงดื่ม เมื่อชงกับน้ำอุ่นแล้วจะมีลักษณะคล้ายนม ใช้ดื่มระหว่างมื้ออาหาร และสูตรซุป ชงในน้ำอุ่นรับประทาน ลักษณะเป็นซุปข้น ซึ่งสูตรนี้จะให้พลังงานและโปรตีนในปริมาณสูงตามที่ร่างกายต้องการใช้ทดแทนมื้ออาหารได้
วอนเอกชนหนุนงานวิจัยอาหารฟังก์ชัน “จากหิ้งสู่ห้าง”
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ Albupro Plus อยู่ระหว่างการขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่ง รศ.ดร.สวิมล กล่าวว่า “เมื่อได้รับอนุญาตจาก อย. แล้วก็จะจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของอาหารฟังก์ชันก่อน โดยผู้สนใจสามารถหาซื้อได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป คาดว่าราคาจะต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นที่จำหน่ายอยู่ประมาณ 20- 30 % ในขณะนี้ผลิตภัณฑ์ได้เข้าสู่ขั้นตอนการวิจัยทางคลินิก (Clinical Trial) ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไต เพื่อที่จะขึ้นทะเบียนเป็นอาหารทางการแพทย์เต็มรูปแบบต่อไป”
งานวิจัยผลิตภัณฑ์ Albupro Plus สำเร็จได้ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ภายใต้โครงการวิจัย พัฒนา และทดสอบทางคลินิกสำหรับอาหารฟังก์ชัน ซึ่งต่อจาก Albupro Plus รศ.ดร.สุวิมล เผยว่ากำลังดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบอาหารฟังก์ชันด้านเมตาบอลิกซินโดรม คือ กลุ่มอาการที่เป็นความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
“หากงานวิจัยพัฒนาอาหารฟังก์ชันได้รับความสนใจและแรงหนุนจากภาคเอกชนก็จะยิ่งทำให้งานวิจัยมีโอกาสออก ”จากหิ้งไปสู่ห้าง” เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงและได้ประโยชน์จากอาหารเพื่อสุขภาพอย่างกว้างขวาง” รศ.ดร.สุวิมล กล่าวทิ้งท้าย
Discussion about this post