รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร นักวิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ และอาจารย์ประจำสายวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เจ้าของรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2564” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงรายละเอียด “กำแพงต้นไม้บำบัดมลพิษชนิดควบคุมตัวเองอัตโนมัติ” ที่ได้รับรางวัล ฯ ว่า เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีการใช้พืชบำบัดมลพิษ เทคโนโลยีตัวดูดซับกับการออกแบบด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการดึงดูดอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษเข้ามาปะทะกับพื้นที่ปลูกพืชด้วยอัตราการไหลเวียนอากาศที่เหมาะสม เพื่อบำบัดอากาศในบริเวณโดยรอบ จากฝุ่น ควันและมลพิษทางอากาศให้สะอาดขึ้น
“แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกำแพงต้นไม้บริเวณป้ายรถเมล์หรือถนนทั่วไป แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยปัญหาเรื่องการรดน้ำต้นไม้ หรือใช้ต้นไม้ที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ในการดักจับฝุ่นละอองเล็ก ๆ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สุดท้ายกำแพงต้นไม้ถูกปล่อยร้างไปในที่สุดและไม่มีประสิทธิภาพในการบำบัดมลพิษอากาศมากเท่าที่ควร คณะผู้วิจัยจึงพยายามผสมผสาน Smart farming technology เข้ามาอยู่ในสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้”
ทั้งนี้ จากการทดสอบประสิทธิภาพของกำแพงต้นไม้อัจฉริยะในการบำบัดมลพิษอากาศ พบว่า ระบบ ฯ มีความสามารถในการลดสารอินทรีย์ระเหยง่ายได้มากกว่าร้อยละ 80 และลดฝุ่น PM2.5 ได้ประมาณร้อยละ 60 จากการไหลผ่านของอากาศเพียง 1 รอบ นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังใช้ระบบการควบคุมกำแพงต้นไม้บำบัดมลพิษแบบอัตโนมัติ ทั้งการรดน้ำ ล้างใบ และการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณโดยรอบ ที่รองรับทั้งการควบคุมโดยมนุษย์ ควบคุมตัวเองแบบอัตโนมัติและการควบคุมผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถปรับความถี่ในการรดน้ำต้นไม้ แสดงคุณภาพอากาศในบริเวณโดยรอบและปรับความเร็วของลมในการดูดอากาศของระบบ ฯ ได้เองตามสภาพอากาศบริเวณนั้น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
“แม้ว่าเทคโนโลยีกำแพงต้นไม้อัจฉริยะตัวนี้ไม่ได้ถึงขั้นบำบัดฝุ่นในกรุงเทพฯ ทั้งหมด เพราะฝุ่นในกรุงเทพ ฯ มีปริมาณเยอะมาก แต่เป็นการสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้มีอากาศบริสุทธิ์และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนเมือง โดยเฉพาะคนที่เข้ามาอยู่ในบริเวณกำแพงต้นไม้นี้ จะได้รับอากาศที่ผ่านการกรองโดยต้นไม้ สร้างความปลอดโปร่ง โดยเราออกแบบให้มีเก้าอี้นั่งในฝั่ง Relaxing zone อีกฝั่งหนึ่งจะปลูกต้นไม้ โดยอากาศจะถูกดูดเข้ามาบริเวณชั้นกรอง จากนั้นจะมีการไหลเวียนอากาศที่ถูกควบคุมแบบสลับฟันปลาที่มีความเร็วลมเหมาะสม อากาศที่ผ่านการกรองจะถูกพ่นลงมาเป็นม่านลม ฉะนั้นบริเวณดังกล่าวจะมีฝุ่นPM.2.5 สารระเหยและอุณหภูมิลดลง โดยผู้ควบคุมสามารถดูข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านอินเทอร์เน็ตได้ มีหน้าจอที่แสดงผล มีแถบสีที่แสดงคุณภาพอากาศในบริเวณนั้น นอกจากนี้มลพิษในอากาศจะเป็นตัวไปควบคุมความเร็วลม ถ้ามลพิษมีปริมาณสูงระบบฯ จะเร่งความเร็วในการกรอง และสามารถตั้งเวลาในการรดน้ำต้นไม้ผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย”
ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวได้มีการยื่นจดสิทธิบัตรโดยใช้ชื่อว่า กำแพงต้นไม้บำบัดมลพิษชนิดควบคุมตัวเองอัตโนมัติ และอยู่ระหว่างการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ โดยการย่อขนาดให้เล็กลงเพื่อการเข้าถึงการนำไปใช้ของประชาชนทั่วไปมากขึ้น โดยคณะผู้วิจัยเชื่อว่า เทคโนโลยีชิ้นนี้จะเป็นก้าวแรกในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนไทย
อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.ชัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในยุคของการพึ่งพาเทคโนโลยี นักวิจัยต้องมีการปรับตัวอย่างมากหากต้องการพัฒนานวัตกรรมในเชิงพาณิชย์หรือผลักดันสู่ภาคอุตสาหกรรม และเชื่อว่าการจะก้าวกระโดดขึ้นเป็นผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ตามโจทย์ความต้องการจริงของทิศทางธุรกิจในตลาดโลก เพื่อให้เทคโนโลยีไทยสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์และเกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย
Discussion about this post