กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ขับเคลื่อน BCG Model สร้างต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการ PPE ใช้แล้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และขยะปลอดเชื้ออื่นๆ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ระบุระบบมีประสิทธิภาพสูง เกิดมลพิษต่ำกว่าการเผาไหม้ทั่วไป มีศักยภาพรองรับวัตถุดิบ 10 ตันต่อวัน เผยในอนาคตมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ผู้สนใจ ใช้เป็นต้นแบบสำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสุขอนามัยชุมชน สิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างยั่งยืน
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ผลกระทบสำคัญอันหนึ่งที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 คือ การจัดการขยะที่เกิดจากการป้องกันและรักษาโรค ได้แก่ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม ถุงหุ้มรองเท้า รวมไปถึงชุดป้องกันร่างกายที่ใช้เพียงครั้งเดียว (Single Used) ซึ่งการจัดการมูลฝอยติดเชื้อยังมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน เช่น ประสิทธิภาพในการคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อ ข้อจำกัดด้านโครงสร้าง งบประมาณ และบุคลากรของหน่วยงานต้นทางหรือแหล่งกำเนิด ปัจจุบันการจัดการขยะติดเชื้อดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้วิธีการเผา หรือการกำจัดด้วยระบบการฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำ ก่อนจะนำไปทิ้งเป็นขยะมูลฝอยชุมชนต่อไป ซึ่งวิธีการจัดการเหล่านี้มีข้อจำกัด หากขาดประสิทธิภาพและมาตรฐาน อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขอนามัยชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้
“…วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงนำผลงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ระบบแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอนในการกำจัดขยะปลอดเชื้อและเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัทนำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด และการสนับสนุนของ บพข. ในการขยายขอบเขตดำเนินงานวิจัยเพิ่มเติม ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางเพื่อเปลี่ยน PPE ใช้แล้ว ขยะปลอดเชื้อ ให้เป็นพลังงานโดยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน เพื่อสร้างต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการ PPE ใช้แล้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขยะปลอดเชื้ออื่นๆ โดยศูนย์เรียนรู้ฯ นี้ ตั้งอยู่ที่ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งครุภัณฑ์ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานเป็นทางการได้ภายในปี 2565 เพื่อช่วยกำจัดขยะจากการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 และขยะปลอดเชื้ออื่นๆ โดยนำเข้ามาสู่ระบบเพื่อผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดรายได้ สอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันในท้องตลาดโดยส่วนมากเป็นเทคโนโลยีนำเข้าจากต่างประเทศ และส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เนื่องจากปัญหาหลายๆ ด้าน เช่น ปริมาณทาร์และของเสียในระบบมีจำนวนมาก ตลอดจนการต่อต้านของชุมชนเนื่องด้วยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นอกจากนั้นในสถานการณ์การระบาดหนักของโรคโควิด-19 ทำให้ วว. มุ่งเน้นเตรียมความพร้อมเทคโนโลยีให้สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทันที นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าและสร้างความยั่งยืนภายในประเทศ โดย วว. มีแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ผู้ที่สนใจเพื่อใช้เป็นต้นแบบสำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์สาธิตการการผลิตพลังงานจากชีวมวลและขยะ ณ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. โดยจะอยู่ในรูปแบบที่ปรึกษา
ดร.พนิดา เทพขุน นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน (3-Stage Gasification) เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงและเกิดมลพิษต่ำกว่าการเผาไหม้ทั่วไป มีผลพลอยได้จากเทคโนโลยีนี้คือพลังงานทดแทนในรูปพลังงานความร้อนหรือไฟฟ้า เป็นเทคโนโลยีระดับโรงงานต้นแบบ มีศักยภาพรองรับวัตถุดิบ 10 ตันต่อวัน เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลและของเหลือทิ้ง มีส่วนประกอบหลัก 5 ส่วน ได้แก่ 1.ระบบป้อนและอบแห้งวัตถุดิบ 2.ระบบเตาผลิตแก๊สเชื้อเพลิงสังเคราะห์ 3.ระบบทำความสะอาดแก๊ส 4.ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ และ 5.เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 200 กิโลวัตต์ ทั้งนี้เพื่อการบริหารจัดการมูลฝอยปลอดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริง
“…วัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการนี้ เพื่อสร้าง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รองรับความต้องการใช้พลังงานในประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และลดการการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานจากฟอสซิล ปัจจุบันเทคโนโลยี 3-State Gasification ของ วว. ได้มีการเดินระบบทดลองใช้กับวัตถุดิบที่หลากหลาย ได้แก่ ไม้สับ ขยะเชื้อเพลิง และขยะปลอดเชื้อ พบว่าการทำงานของระบบเตาผลิตแก๊สเชื้อเพลิงสังเคราะห์มีประสิทธิภาพการผลิตสูง ดังนั้นในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการใช้อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อการป้องกันโรคแบบใช้ครั้งเดียวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนั้น วว. มีความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยี 3-State Gasification เพื่อใช้กำจัดขยะที่เกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินงานของ วว. เพียง 1 กระบวนการ ทำให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาหาแนวทางพัฒนากระบวนการกำจัดขยะปลอดเชื้อจากโรงพยาบาลเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดจากการสะสมและการนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ยังได้ผลพลอยได้เป็นพลังงานทดแทนในรูปของแก๊สเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่มีคุณภาพ สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานความร้อนหรือพลังงานไฟฟ้าได้ มากไปกว่านั้นเทคโนโลยี 3-State Gasification ของ วว. ยังผ่านงานวิจัยในเบื้องต้นมาแล้วว่าสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อย…” นักวิจัยอาวุโส วว. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับบริการปรึกษาเกี่ยวกับ เทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน ติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. โทร. 02 577 9000 Call center 0 2577 9300 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : tistr@tistr.or.th
Discussion about this post