SOPet (เอส โอ เพ็ท) คลินิกสัตวแพทย์ออนไลน์ สตาร์ทอัพยอดนิยม ให้คำปรึกษาปัญหาสัตว์เลี้ยงแบบทันใจ ไอเดียนิสิตชั้นปีที่ 2 สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาฯ (BAScii) ในสังกัด CU Innovation Hub ชูจุดแข็งธุรกิจเพื่อสังคม รวดเร็ว เชื่อถือได้ ในราคาย่อมเยา
จากประสบการณ์ชีวิตคนเลี้ยงสัตว์ที่ต้องการคำปรึกษาและความช่วยเหลือเร่งด่วนยามวิกฤต แต่ไม่อาจรุดไปที่คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ได้ในทันที เกิดเป็นไอเดียธุรกิจ SOPet สัตวแพทย์ออนไลน์ ให้คำปรึกษาปัญหาสัตว์เลี้ยงแบบทันใจ บริหารงานโดยกลุ่มนิสิตชั้นปีที่ 2 สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือ BAScii (Chulalongkorn School of Integrated Innovation)
“BAScii เป็นคณะที่มีการเรียนการสอนแบบนานาชาติ เน้นบูรณาการนวัตกรรมและแผนการดำเนินธุรกิจเข้าด้วยกันภายใต้การสนับสนุนของ CU Innovation Hub โดยที่คณะ มีวิชาที่เรียกว่า Project Seed เป็นวิชาที่ต้องเรียนตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 นิสิตทุกคนจะต้องมีโพรเจกต์ที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเอง” ชวิน วิริยะโสภณ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง SOPet กล่าวถึงจุดตั้งต้นของการทำธุรกิจ ซึ่งมีที่ปรึกษาคนสำคัญ คือ อ.ดร.รณกร ไวยวุฒิ อาจารย์ผู้สอน และ ดร.ธีรกร อานันโทไทย – Chief Innovation Officer และ Co – Founder ของบริษัทสตาร์ทอัพ Globish
“ไอเดียของ SOPet มาจากเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นผู้ก่อตั้งซึ่งเคยประสบปัญหา พาสัตว์เลี้ยงไปหาสัตวแพทย์ไม่ได้เนื่องจากน้ำท่วมที่บ้าน ประกอบกับพวกเราทุกคนก็เป็นคนที่ชอบสัตว์เลี้ยงด้วย เลยเกิดไอเดียธุรกิจสัตวแพทย์ออนไลน์ โดยมีการแบ่งหน้าที่กันดูแลธุรกิจในส่วนต่างๆ โดยไม่เสียการเรียน เพราะโพรเจกต์นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนอยู่แล้ว แต่ต้องพยายามหาเวลาว่างในแต่ละวันเพื่อเข้ามาดูแลเพิ่มเติม รวมถึงมีการจ้าง outsource มาดูแลในส่วนของงานแอดมิน” ชวิน กรรมการผู้จัดการบริษัท SOPet เล่าที่มาของไอเดียธุรกิจ พร้อมแนะนำผู้ร่วมก่อตั้งอีก 5 คน และสมาชิกทีมอีก 3 คน ได้แก่ ณภัทร เซี่ยงหลิว, วชิรวิทย์ ศิริเดชานนท์, ชนัญญา อัศววรฤทธิ์, โชษิญา โล่สุวรรณกุลม, ภากมล อินทนิลม, เอะมิริ ฮิราโอกะ, ผุสดีย์ ประเสริฐวิทย์ และก่อพงศ์ เรืองวัฒนกุล
ชวิน อธิบายว่า รูปแบบการให้บริการของ SOPet ในปัจจุบันยังเป็นเพียง MVP (Minimal Viable Product) คือให้บริการผ่าน facebook page โดยมีการทำเพื่อทดลองตลาดซึ่งเร็วๆ นี้ ก็จะมีการแนะนำในส่วนของเว็บไซต์ด้วย ลูกค้าสามารถทักเข้ามาทางแชทของ facebook โดยจะมีแอดมินคอยให้คำแนะนำในการเลือกรูปแบบของบริการและประสานงานกับสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งมีเครือข่ายสัตวแพทย์ที่คอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับลูกค้ามากกว่า 20 ท่าน (คัดเลือกจากผู้สมัครมากกว่า 80 ท่าน) และพร้อมให้คำปรึกษาหลังการติดต่อภายใน 5-10 นาที
“หลังจากให้บริการได้ประมาณหนึ่งปีเศษ เสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจ โดยพิจารณาจากคะแนนประเมินผลการให้บริการในแบบสำรวจคนเลี้ยงสัตว์จำนวนกว่า 1,400 คน ที่เข้ามาใช้บริการ กว่า 98% ให้คะแนน SOPet ในระดับ “ดีมาก”
กรรมการผู้จัดการบริษัท SOPet กล่าวว่า ธุรกิจอยู่ได้ด้วยคุณค่าหลัก (core value) ซึ่งสำหรับ SOPet คุณค่านั้นมีชื่อย่อว่า “DARF”
D – Diversity ความหลากหลายของสัตวแพทย์ที่ถนัดเฉพาะทางแตกต่างกันไปในเครือข่ายของ SOPet และยังให้บริการสารพัดประเภทสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงทั่วไป สัตว์น้ำ สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์แปลก (exotic pets)
A – Accessibility การเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว ราคาไม่แพง เน้นการให้ความช่วยเหลือเป็นหลัก
R – Reliable ความน่าเชื่อถือ ก่อนการให้คำปรึกษาทุกครั้ง ลูกค้าจะได้รับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสัตวแพทย์ผู้ให้คำปรึกษา ทั้งประวัติการศึกษาและประวัติการทำงาน
F – Fast บริการที่รวดเร็ว ทันท่วงที ภายใน 5-10 นาที แพทย์ก็มาถึง
SOPet เน้นให้คำปรึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งลูกค้าเลือกรูปแบบได้ตามความพอใจ แชทปรึกษา (อัตราบริการ คำถามปกติ 45 นาที 45 บาท, อาการป่วย 60 นาที 65 บาท) ไม่จำกัดจำนวนคำถามใน 1 หัวข้อใหญ่ในเวลาที่กำหนด โดย SOPet เป็นตัวกลางรับ-ส่งข้อมูล โทรปรึกษา (อัตราบริการ 20 นาที 120 บาท) ไม่จำกัดจำนวนคำถามและหัวข้อ พร้อมให้เอกสารสรุปคำปรึกษา วิดีโอคอลปรึกษา (20 นาที 150 บาท) ไม่จำกัดจำนวนคำถามและหัวข้อ ไม่ต้องพิมพ์ ไม่ต้องส่งรูปถ่ายหรือวิดีโอ พร้อมให้เอกสารสรุปคำปรึกษา
โดยเรื่องที่จะปรึกษากับสัตวแพทย์ ทาง SOPet เน้น 6 หัวข้อสำคัญ ได้แก่
ตอบคำถามต่างๆ ของเจ้าของสัตว์เลี้ยง
ประเมินความเร่งด่วนเพื่อการไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิก
ให้ข้อมูลอาการที่มักพบเบื้องต้นและอาการที่ควรเฝ้าระวัง
ให้ข้อมูลสาเหตุของอาการเบื้องต้นที่เป็นไปได้
ให้ข้อมูลวิธีการดูเเลเบื้องต้น วิธีการดูแลสัตว์ป่วย
ให้คำแนะนำและข้อควรระวังต่างๆ
ทั้งนี้ สัตวแพทย์จะไม่รับวินิจฉัยโรคใด ๆ หรือรักษาสัตว์บนแพลตฟอร์มออนไลน์
แผนธุรกิจเพื่อสังคมหลังจากนี้ ทีมผู้ก่อตั้ง SOPet หวังพัฒนาระบบบริการการแพทย์ออนไลน์ (telemedicine) ที่ลูกค้าทั่วประเทศไว้วางใจและนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ และอาจทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการร่วมกันในอนาคต
Discussion about this post