“อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม” (Colostomy Bags) เป็นชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่ได้รับการผ่าตัด ประกอบด้วยแป้นติดหน้าท้องและถุงรองรับสิ่งขับถ่าย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพื่อใช้ในการขับถ่ายอุจจาระทางรูเปิดของลำไส้ที่ผนังหน้าท้องแทนทวารหนัก บางรายจำเป็นต้องใช้ไปตลอดชีวิต ที่ผ่านมาอุปกรณ์ดังกล่าวต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% อาทิ ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเข้าถึงบริการของชุดอุปกรณ์ที่มีจำนวนจำกัดและมีราคาค่อนข้างสูงราว 200-500 บาทต่อชุด โดยที่ผู้ป่วยต้องใช้ประมาณ 5-10 ชุดต่อเดือน
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ทีมวิจัยจาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการพัฒนา “อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม” โดยใช้ “ยางพารา” ซึ่งสามารถผลิตเองได้ในประเทศ ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาชุดอุปกรณ์ให้มีรูปแบบที่เหมาะกับผิวและผนังหน้าท้องของคนไทย พร้อมดำเนินการทดสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ Biocompatibility Test เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วย ให้เข้าใจถึงการใช้งานชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม โดยพยาบาลเฉพาะทาง โดยใช้เวลาวิจัยรวมกว่า 5 ปี
ผศ. นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้วิจัย อธิบายว่า อุปกรณ์ดังกล่าวได้มีการจดอนุสิทธิบัตร ออกแบบให้เหมาะสำหรับสรีระคนไทย ประกอบด้วย แป้นติดผิวหนังและถุงรองรับสิ่งขับถ่ายที่มีน้ำหนักเบา ยึดติดผิวหนังได้ดี สามารปรับรูปร่างตามหน้าท้องได้ อีกทั้งยังสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 0.5 กิโลกรัม เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษและผลิตด้วยกระบวนการเป่าฟิล์มแบบหลายชั้น (Multilayers Film) ไม่เกิดการรั่วซึม ทำให้ไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์เล็ดลอดออกมาได้ ลดปัญหาความขาดแคลนและการนำเข้าจากต่างประเทศ
ที่มา : 7innovationawards
Discussion about this post